พระพุทธเจ้า |
---|
ประสูติ
พระพุทธเจ้า พระนามเดิมว่า " สิทธัตถะ " เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระองค์ทรงถือกำเนิดในศากยวงค์ สกุลโคตมะ พระองค์ประสูติ ในวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ( เดือนวิสาขะ ) ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ณ สวนลุมพินีวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ( ปัจจุบันคือตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล )
การขนานพระนาม
พระราชกุมารได้รับการทำนายจากอสิตฤาษีหรือกาฬเทวิลดาบส มหาฤาษีผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นที่ทรงเคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะว่า "พระราชกุมารนี้เป็นอัจฉริยมนุษย์ มีลักษณะมหาบุรุษครบถ้วน บุคคลที่มีลักษณะดังนี้ จักต้องเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิตแล้วตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ไม่มีกิเลสในโลกเป็นแน่ "หลังจากประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะโปรดให้ประชุมพระประยูรญาติ และเชิญพราหมณ์ ผู้เรียนจบไตรเพท จำนวน ๑๐๘ คน เพื่อมาทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร
ส่วนพราหมณ์เหล่านั้นคัดเลือกกันเองเฉพาะผู้ที่ทรงวิทยาคุณประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งหมดได้ ๘ คน เพื่อทำนายพระราชกุมาร โกณฑัญญะพราหมณ์ ผู้มีอายุน้อยกว่าทุกคน ได้ทำนายเพียงอย่างเดียวว่า พระราชกุมารจักเสด็จออกจากพระราชวังผนวชเป็นบรรพชิต แล้วตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก พราหมณ์ทั้ง๘คนได้พร้อมใจกันถวายพระนามว่า “ สิทธัตถะ ” มีความหมายว่า " ผู้มีความสำเร็จสมประสงค์ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนตั้งใจจะทำ " เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๗ วัน พระราชมารดาก็เสด็จสวรรคต (การเสด็จสวรรคตดังกล่าวเป็นประเพณีของผู้ที่เป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้า )
อภิเษกสมรส
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พระเจ้าสุทโธทนะมีพระราชดำริว่าพระราชโอรสสมควรจะได้อภิเษกสมรส ทรงสู่ขอพระนางพิมพาหรือยโสธรา พระราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะและพระนางอมิตา แห่งเทวทหะนคร ในตระกูลโกลิยวงค์ ให้อภิเษกด้วย เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขสมบัติ จนพระชนมายุมายุได้ ๒๙ พรรษา พระนางพิมพายโสรธาจึงประสูติพระโอรส เมื่อพระองค์ทรงทราบถึงการประสูติของพระโอรสพระองค์ตรัสว่า " ราหุล ชาโต, พันธน ชาต , บ่วงเกิดแล้ว , เครื่องจองจำเกิดแล้ว"
ออกบรรพชา
เจ้าชายสิทธัตถะมิได้พอพระทัยในชีวิตคฤหัสถ์ พระองค์ยังทรงมีพระทัยฝักใฝ่ใคร่ครวญถึงสัจธรรมที่จะเป็นเครื่องนำทางซึ่งความพ้นทุกข์อยู่เสมอ พระองค์ได้เคยสด็จประพาสอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเทวทูตทั้ง ๔ คือคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต พระองค์จึงสังเวชพระทัยในชีวิต และพอพระทัยในเพศบรรพิต มีพระทัยแน่วแน่ที่จะทรงออกผนวช เพื่อแสวงหาโมกขธรรม อันเป็นทางดับทุกข์ถาวรพ้นจากวัฏสงสารไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก พระองค์จึงตัดสินพระทัยเสด็จออกทรงผนวชเป็นบรรพชิต
เข้าศึกษาในสำนักดาบส
พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระสมณสิทธัตถะทรงเห็นโทษในกาม เห็นทางออกบวชว่าเป็นทางอันเกษม สมณสิทธัตถะได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร ณ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พระองค์ได้ทรงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ทรงได้สมาบัติคือ ทุติยฌาน ตติยฌาน อากาสานัญจายตนฌาน วิญญานัญจายตนฌาน และอากิญจัญญายตนฌาน ส่วนการประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักอุทกดาบส รามบุตร นั้นทรงได้สมาบัติ ๘ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน สำหรับฌานที่ ๑ คือปฐมฌาน นั้น พระองค์ทรงได้ขณะกำลังประทับขัดสมาธิเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานอยู่ใต้ต้นหว้า เนื่องในพระราชพิธีวัปปมงคล ( แรกนาขวัญ ) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์
เมื่อสำเร็จการศึกษาสำนักแล้วพระองค์ทรงทราบว่ามิใช่หนทางพ้นจากทุกข์ บรรลุพระโพธิญาณตามที่ทรงมุ่งหวัง พระองค์จึงทรงเสด็จไปกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
บำเพ็ญทุกรกิริยา
" ทุกร " หมายถึง สิ่งที่ทำได้ยาก “ ทุกรกิริยา ” หมายถึงการกระทำกิจที่ทำได้ยาก ได้แก่ การบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมวิเศษ
พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา คือการบำเพ็ญอย่างยิ่งยวดในลักษณะต่างๆเช่น การอดพระกระยาหาร การทรมานพระวรกายโดยการกลั้นพระอัสสาสะ พระปัสสาสะ ( ลมหายใจ ) การกดพระทนต์ การกดพระตาลุ ( เพดาน) ด้วยพระชิวหา (ลิ้น) เป็นต้น พระมหาบุรุษได้ทรงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเป็นเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังมิได้ค้นพบสัจธรรมอันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์ พระองค์จึงทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา แล้วกลับมาเสวยพระกระยาหารเพื่อบำรุงพระวรกายให้แข็งแรง พระองค์ได้ประทับอยู่ตามลำพังในที่อันสงบเงียบ ปราศจากสิ่งรบกวนทั้งปวง พระองค์ได้ทรงตั้งพระสติดำเนินทางสายกลาง คือ การปฏิบัติในความพอเหมาะพอควร นั่นเอง
ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เวลารุ่งอรุณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ( เดือนวิสาขะ) ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
พระองค์เสด็จไปสู่ท่าสุปดิษฐ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาสแล้วลงสรงสนานชำระล้างพระวรกาย แล้วทรงผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ หลังจากเสวยแล้วพระองค์ทรงจับถาดทองคำขึ้นมาอธิษฐานว่า “ ถ้าเราจักสามารถตรัสรู้ได้ในวันนี้ ก็ขอให้ถาดทองคำใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป แต่ถ้ามิได้เป็นดังนั้นก็ขอให้ถาดทองคำใบนี้จงลอยไปตามกระแสน้ำเถิด “ แล้วทรงปล่อยถาดทองคำลงไปในแม่น้ำ ถาดทองคำลอยตัดกระแสน้ำไปจนถึงกลางแม่น้ำเนรัญชรา แล้วลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง ๘๐ ศอก จึงจมลงตรงที่กระแสน้ำวน
ในเวลาเย็นพระองค์เสด็จกลับมายังต้นโพธิ์ที่ประทับ หญ้าปูลาดที่ประทับ ณ ใต้ต้นโพธิ์ พระองค์ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า "แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ถ้ายังไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด " พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ มีพระสติตั้งมั่น มีพระวรกายอันสงบ มีพระหทัยแน่วแน่เป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากกิเลส ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนโยน เหมาะแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
แต่สิ่งใดเล่าจะได้มาง่าย ๆ เพราะเพียงแต่คำอธิษฐานของพระพุทธองค์สิ้นสุดลงเท่านั้น พญามารก็ปรากฎตัวขึ้น พร้อมบริวารแสนคณานับ บรรดามารใหญ่น้อย ต่างพากันรุมล้อมพระองค์ตลอดทั่วทุกด้าน อันพญามารนั้นเล่า ทรงช้างนาม “คิรีเมขล์” เนรมิตรแขนนับพัน พร้อมศาสตรวุธอย่างพร้อมเพรียง ทุกตนตรงรี่เข้ามาที่พระพุทธองค์ เพื่อทำร้ายและป้องกันไม่ให้พระพุทธองค์ ประสบความสำเร็จในการบำเพ็ญเพียร ฝ่ายพระพุทธบรมโพธิสัตว์ เมื่อเห็นมารนับแสนกลุ้มรุมเข้ามาดังนั้น จึงได้รำลึกถึงบารมี ๑๐ ประการ อันได้แก่ ทานบารมี ที่ทรงปฏิบัติมาเมื่ออดีตชาติเป็นที่ตั้ง พญามารได้ระดมเรียกลมพายุ ฟ้าพลันมืดสนิท เกิดทั้งพายุไฟ พายุทราย และพายุโคลน ดุจปฐพีจะถล่มทลาย ถึงกับมีคำบรรยายไว้ว่า
อุกกาบาตประดังประดาตกลงมาไม่ขาดสาย ทิศานุทิศมืดคลุ้มไปด้วยหมอกควัน ผืนปฐพีสะเทือนเลื่อนลั่นปานประหนึ่งจะทรุดทลายลง มหาสมุทรมีคลื่นคลั่ง ปั่นป่วน แม่น้ำไหลสวนกระแสเป็นฟองฟาย ไม้ใหญ่ไพรระหงล้มระเนระนาด เหมือนถูกมือปีศาจถอนทิ้งทั้งรากทั้งต้น มหาวายุใหญ่ หมุนติ้ว พัดพาเอาป่าทั้งป่าล้มระเนเป็นแถบ ๆ ความมืดโรงตัวแผ่ปกคลุมไปทั่ว เหมือนมีม่านสีดำสนิท ปิดฟ้าเอาไว้ พญามารและพลพรรคมารนับแสนได้พยายามปิดทุกเส้นทาง เพื่อป้องกันไม่ให้พระพุทธองค์เสด็จหนีได้ พร้อมกันนั้น ยังพยายามยื้อยุดบัลลังก์ของพระองค์มาเป็นของตนอีกด้วย แต่กระนั้น พระพุทธองค์ก็หาได้พรั่นพรึงไม่ ทรงใช้ความสงบ สยบความเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นคง พญามารส่งเสียงท้าทายฮึกเหิม
พญามาร “สิทธัตถะ ลุกขึ้นเถิด บัลลังก์นั่นเป็นของเรา เจ้าไม่สมควรได้นั่ง”
พระพุทธองค์ “พญามารเอ๋ย บัลลังก์นี้ หาควรเป็นของเจ้าไม่ เพราะเป็นบัลลังก์ที่เราได้มาจากการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ รวมทั้งการบริจาคมหาทานทั้ง ๕ บำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์เป็นเอนกประการ ส่วนเจ้า ได้ทำอย่างใดมาบ้างหรือ”
พญามาร “บารมีอะไรเราไม่สนใจ บัลลังก์นี้ ต้องเป็นของเราเท่านั้น”
เหล่าเสนามาร ต่างส่งเสียงให้กำลังใจแก่นายของตน เข้าตำรา นายว่า ขี้ข้าพลอย ไม่ผิดเลย
พญามาร “เช่นนั้น ท่านจงหาสักขีพยานมายืนยันเถิด”
พระพุทธองค์ ได้ชี้พระดัชนีขวาลงยังผืนมหาปฐพี แล้วทรงประกาศต่อหน้าพญามารว่า “เราได้บำเพ็ญหิตานุหิต ประโยชน์มานานัปการ อย่าว่าแต่ชาติอื่นเลย เพียงแต่เมื่อเราเป็นพระเวสสันดร ก็เหลือจะพรรณนาคุณานิสงค์แล้ว มหาปฐพีนี้ แม้จะไม่มีชีวิตก็จริงอยู่ แต่กระนั้น ก็ย่อมเป็นพยานแก่เราได้”
ทันใดนั้น มหาปฐพี ก็สะเทือนเลื่อนลั่น ประหนึ่งจะยินยอมพร้อมรับสัจจะวาจาแห่งพระพุทธองค์ เป็นแม่นมั่น คำอธิษฐานดังกล่าว นับเป็นบุคคลาธิษฐาน ให้พื้นมหาปฐพี เป็นแม่พระธรณี ผุดขึ้นมาเป็นพยาน ด้วยการบีบมวยผม จนน้ำทักษิโณทก ที่พระพุทธองค์เคยหลั่งไว้เมื่ออดีตชาติ ไหลหลั่งออกมา พัดพาเอาพญามารและเสนามารไป ไม่เป็นกระบวน พญามารจึงยอมสยบลงด้วยเหตุนั้น ก่อนจากไป พญามารได้สรรเสริญพระพุทธองค์ ว่า “ในโลกและเทวโลก ยากจะหาบุคคลผู้เสมอเหมือนพระองค์ พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่แล้ว พระองค์จักขนสรรพสัตว์ ข้ามห้วงมหรรณพแห่งสังสารวัฏได้เป็นแน่ในครั้งนี้ พระองค์จักเป็นผู้บรรลุพระนฤพาน ดังมโนปณิธานปรารถนาแล้ว”
ครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชัยชนะแก่พญามาร พร้อมเสนามารทั้งหลาย ได้อย่างเด็ดขาดด้วยสันติวิธี อันประกอบด้วย ทานบารมี เป็นต้น เหตุการณ์สำคัญครั้งนั้น เป็นที่มาของพระพุทธรูปปาง “มารวิชัย ” (มา-ระ-วิ-ไช) อันหมายถึงชัยชนะเหนือพญามาร และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่า
“ มารไม่มี บารมีไม่เกิด ”
อันที่จริง...คนเขาอยากให้...เราได้ดี
แต่ถ้าเด่น...ขึ้นทุกที...เขาหมั่นไส้
จงทำดี...แต่อย่าเด่น...จะเป็นภัย
ไม่มีใคร...อยากเห็น...เราเด่นเกิน
ไม่มีประโยชน์ที่จะเอาชนะคนโง่ด้วยการโต้เถียง
คาถาพระพุทธเจ้าชนะมาร
ปัญจะ มาเร ชิโน นาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จะตุสัจจัง ปะกาเสติ ธัมมะจักกัง ปะวัตตะยิ เอเต สัจจะวัชเชนะ โหตุ เม ชะยะมังคะลัง
ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ(ญาณเป็นเหตุระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยในชาติปางก่อนได้)ในปฐมยามแห่งราตรี ต่อจากนั้นทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจูตุปาตญาณ ( ญาณกำหนดรู้การตาย การเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ) ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ต่อจากนั้น ทรงน้อมพระทัยไปเพื่ออาสวักขยญาณ (ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งหลาย) คือทรงรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตของพระองค์ก็ทรงหลุดพ้นจากกามสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วพระองค์ก็ทรงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ทรงรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นั่นคือพระองค์ทรงบรรลุวิชชาที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้นเอง ซึ่งก็คือการตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างยิ่งยวด พระองค์ทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีระกา ขณะพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา นับแต่วันที่สด็จออกผนวชจนถึงวันตรัสรู้ธรรม รวมเป็นเวลา ๖ ปี
พระธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คือ อริยสัจ ๔ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค )
ตอนที่พระองค์ตรัสรู้นั้น
ทรงเปล่งรังสีออกมารอบพระวรกายเป็นฉัพพรรณรังสีเลยทีเดียว
ว่ากันว่าแสงสว่างแห่งรังสีนั้นสว่างวาบกระจายไปทั่วจักรวาล ขึ้นไปถึงสวรรค์ชั้นสูงสุด และลงไปถึงนรกขุมอเวจี พวกสัตว์อเวจีนรกได้เห็นกันแวบเดียว แต่พวกเทวดาและพรหมชั้นสูงต่างได้เห็นรังสีเรืองรอง และทำให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้วในพิภพนี้
ฉัพพรรณรังสีประกอบด้วยแสงสี 6 สี คือ
สีเขียวเหมือนดอกอัญชัน
เหลืองเหมือนหรดาล
ทองแดงเหมือนตะวันอ่อน
ขาวเหมือนแผ่นเงิน
สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ และ
สีประภัสสรคือเลื่อมพรายแวววาวคล้ายสีในผลึกแก้ว
ประกาศพระศาสนาครั้งแรก
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงเสวยวิมุติสุข ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ สัปดาห์ ทรงรำพึงว่า ธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้เป็นการยากสำหรับคนทั่วไป จึงทรงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ประกาศธรรม พระสหัมบดีพรหมทราบวาระจิตของพระองค์จึงอาราธนาให้โปรดมนุษย์ โดยเปรียบเทียบมนุษย์เหมือนดอกบัว ๔ เหล่า และในโลกนี้ยังมีเหล่าสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาเบาบาง สัตว์เหล่านั้นจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม เหล่าสัตว์ผู้ที่สามารถรู้ทั่วถึงธรรมได้ ยังมีอยู่ “ พระพุทธเจ้าจึงทรงน้อมพระทัยไปในการแสดงธรรม แล้วเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงแสดงปฐมเทศนา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ( เดือนอาสาฬหะ) เรียกว่า ธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ในขณะที่ทรงแสดงธรรม ท่านอัญญาโกณฑัณญะได้ธรรมจักษุ คือบรรลุพระโสดาบัน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกการบวชครั้งนี้ว่า “ เอหิภิกขุอุปสัมปทา ” พระอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา
การประกาศพระพุทธศาสนา
ต่อมาพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สาวกเหล่านั้นสามารถอุปสมบทให้แก่กุลบุตรได้ เรียกว่า" ติสรณคมนูปสัมปทา" คืออุปสมบทโดยวิธีให้ปฏิญญาตนเป็นผู้ถึงไตรสรณคมน์ พระพุทธศาสนาจึงหยั่งรากฝังลึกและแพร่หลายในดินแดนแห่งนั้นเป็นต้นมา
วันหนึ่งฝนตกหนัก น้ำท่วม แต่ไม่ท่วมที่ประทับ
ชฎิลเห็นอัศจรรย์จึงทูลขอบรรพชา
การที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดชฎิลสามพี่น้อง ก็เพราะนักบวชสามพี่น้องนี้เป็นคณาจารย์ใหญ่ที่คนเคารพนับถือมากในสมัยนั้น การให้นักบวชที่มีอิทธิพลทางความนับถือมาก ได้หันมานับถือพระองค์นั้น เป็นนโยบายสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่เพิ่งเกิดใหม่ เพราะถ้าปราบนักบวชที่มีอิทธิพลมากลงได้เสียแล้ว การประกาศพระศาสนาของพระองค์ก็ง่ายขึ้นและจะได้ผลรวดเร็ว
พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาสำนักของชฎิลสามพี่น้องซึ่งตั้งตนว่าเป็นอรหันต์ และพระองค์ได้ทรงทรมาน คือ การแสดงหรือพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกชฎิลไม่ใช่พระอรหันต์อย่างที่อ้าง คุณธรรมใดๆ ที่พวกชฎิลถือว่าพวกตนมีและว่าวิเศษ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงให้เห็นว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่
ที่ถือว่าพญางูใหญ่มีพิษร้ายกาจ พระองค์ก็จับขดลงในบาตรเสีย เมื่อเกิดอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ พวกชฎิลเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าจมน้ำตายเสียแล้ว ต่างลงเรือพายมาดู ก็เห็นพระพุทธเจ้าเดินจงกรมอยู่ภายใต้ท้องน้ำ
ปฐมสมโพธิว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลากลับใจพวกชฎิลอยู่ถึงสองเดือนจึงสำเร็จ โดยชฎิลผู้หัวหน้าคณาจารย์ใหญ่ คือ อุรุเวลกัสสป เกิดความสังเวชสลดใจว่าตนมิใช่พระอรหันต์อย่างที่เคยหลงเข้าใจผิด ทั้งนี้ด้วยพุทธานุภาพที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ประจักษ์เห็นได้
หัวหน้าชฎิลจึงลอยเครื่องบริขารและเครื่องบูชาไฟทิ้งลงในแม่น้ำเนรัญชรา แล้วกราบแทบพระบาทพระพุทธเจ้า ขอบวชยอมเป็นพระสาวก ฝ่ายน้องชายอีกสองคน ที่ตั้งอาศรมอยู่คุ้งน้ำทางใต้ลงไป เห็นบริขารพี่ชายลอยมาก็จำได้ นึกว่าอันตรายเกิดแก่พี่ชายตนก็พากันมาดู
ทั้งสองได้ทราบเรื่องโดยตลอด ก็ยอมตนเป็นพระสาวกทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลทั้งหมดได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเลยมีนักบวชเป็นพระสาวกเพิ่มขึ้นใหม่อีก ๑,๐๐๐ รูป
ท้าวเธอทรงบำเพ็ญกุศลให้พระญาติที่เกิดเป็นเปรต
เปรตทั้งหลายต่างโมทนารับส่วนบุญ
พระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำจากพระเต้าลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า การหลั่งน้ำในที่นี้เรียกว่าตามภาษาสามัญว่า 'กรวดน้ำ' หรือเรียกเป็นคำศัพท์ว่า 'อุททิโสทก' แปลว่า กรวดน้ำมอบถวาย ใช้ในกรณีเมื่อถวายของใหญ่โตที่ไม่อาจยกประเคนใส่มือพระได้ เช่น ที่ดินและวัด เป็นต้น
ส่วนการกรวดน้ำของพระเจ้าพิมพิสารในภาพนี้เรียกว่า 'ทักษิโณทก' แปลว่า กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลแก่คนตาย ใช้ในกรณีที่จะมอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแก่ผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเป็นผู้รับอีกเหมือนกัน ผิดแต่ว่า สิ่งที่ให้มองไม่เห็นตัวตน เพราะเป็นบุญกุศล ผู้รับก็มองไม่เห็น เพราะเป็นคนที่ตายไปแล้ว พิธีนี้เป็นที่นิยมกันอยู่ในเมืองไทยเวลาทำบุญทุกวันนี้
ภาพที่เห็นนี้เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งที่สองของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อครั้งแรกพระเจ้าพิมพิสารไม่ได้ทรงอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ปฐมสมโพธิจึงว่า ในคืนวันนั้นพวกเปรต ซึ่งเคยเป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารได้ส่งเสียงอื้ออึงขึ้นในพระราชนิเวศน์ ที่แสดงให้เห็นก็มี
ตามนิยายธรรมบทเล่าว่า เปรตเหล่านี้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เคยลักลอบ (หรือจะเรียกอย่างทุกวันนี้ว่าคอรัปชั่นก็ได้) กินของที่คนเขานำมาถวายสงฆ์ ตายแล้วตกนรก แล้วมาเป็นเปรต และมาคอยรับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารอุทิศให้ แต่เมื่อผิดหวังจึงประท้วงดังกล่าว
พระเจ้าพิมพิสารจึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น ทูลถามทราบความแล้ว จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายอาหารและจีวรแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้นอีกต่อมา แล้วทรงหลั่งน้ำอุททิโสทกว่า "อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ" แปลว่า "ขอกุศลผลบุญครั้งนี้จงไปถึงญาติพี่น้องของข้าพเจ้าด้วยเทอญ" เปรตเหล่านี้จึงต่างได้รับกุศลผลบุญกันทั่วหน้า และพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ได้รับอยู่
คำว่า "อิทัง โน ญาตีนัง โหตุ" ได้กลายเป็นบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้คนตายที่คนไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน
ทรงแสดงปาฏิหาริย์เหาะให้เห็น
หมู่พระญาติก็สิ้นทิฐิมานะถวายบังคมพร้อมกัน
ภาพที่เห็นแสดงถึงเหตุการณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหารย์ทำลายทิฐิมานะความถือตัวของพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า
เจ้าศากยะ พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้าที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ ต่างถือองค์ว่าเป็นพระญาติผู้ใหญ่ มีพระชนม์สูงกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นเพียง ๓๖ ปีกว่าๆ เมื่อมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม จึงไม่ถวายอภิวาทบังคม คือไม่ไหว้พระพุทธเจ้า แต่ส่งเจ้าชายเจ้าหญิงศากยะเยาว์วัยกว่าพระพุทธเจ้า ออกไปอยู่แถวหน้า ให้ไหว้พระพุทธเจ้าแทน ส่วนพวกตนอยู่แถวหลังไม่ยอมไหว้
ตำนานปฐมสมโพธิว่า ด้วยเหตุดังกล่าวพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ในอากาศ แล้วโปรยละอองธุลีพระบาทลงเหนือศีรษะของบรรดาเจ้าศากยะ
พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งเสด็จมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเห็นเหตุอัศจรรย์เช่นนั้น จึงทรงประนมพระหัตถ์อภิวาทพระพุทธเจ้า ฝ่ายพระประยูรญาติทั้งปวงในที่นั้น ก็ต่างทิฐิมานะ แล้วถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าพร้อมกันทั่วทุกองค์
ปฐมสมโพธิว่า "ในทันใดนั่นเอง มหาเมฆใหญ่ได้ตั้งเค้าขึ้นมา แล้วหลั่งสายฝนลงมาห่าใหญ่ ฝนนั้นเรียกว่า 'โบกขรพรรษ' มีสีแดง ผู้ใดปรารถนาหรือประสงค์ให้เปียก ย่อมเปียก ไม่ปรารถนาให้เปียก ก็ไม่เปียก โดยเม็ดฝนจะกลิ้งหล่นจากกายเหมือนหยาดน้ำกลิ้งจากใบบัว"
ถอดความก็ว่า พระญาติทุกพระองค์จากกันกับพระพุทธเจ้าเป็นเวลาช้านาน มาได้เห็นกันเข้า ก็ชื่นบาน เหมือนได้รับน้ำฝนชุ่มฉ่ำหฤทัย ฉะนั้น
พระพุทธบิดาทราบข่าวก็เสด็จมาตัดพ้อ
ทูลขอให้เสด็จไปประทับเสวยในวัง
ที่พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาเสด็จไปรับเสด็จ และเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม พร้อมด้วยพระประยูรญาติ แล้วไม่ได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จไปรับภัตตาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ของพระองค์นั้น ก็ด้วยเข้าพระทัยว่าพระพุทธเจ้าคงไม่เสด็จไปที่อื่นนอกจากพระราชนิเวศน์ของพระองค์
แต่ครั้นทรงทราบจากที่พระนางพิมพาไปทูลว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกจำนวนมาก มิได้เสด็จตรงไปยังพระราชนิเวศน์ แต่กลับเสด็จบิณฑบาตไปตามถนนหนทางในเมือง ก็ทรงเสียพระทัยเป็นอันมาก
ปฐมสมโพธิว่า "พระหัตถ์ทรงผ้าสาฎกสะพักพระองค์ เสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ บทจรโดยด่วนไปหยุดยืนอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้วกราบทูลว่า..."
"เหตุไฉนพระลูกเจ้าจึงมาเสด็จเที่ยวบิณฑบาตให้เป็นที่อัปยศ ผิดธรรมเนียมของกษัตริย์ขัตติยวงศ์ของเรา ทำไมจึงไม่เสด็จไปเสวยที่พระราชนิเวศน์"
พระพุทธเจ้าตรัสบอกพุทธบิดรว่า "ธรรมเนียมการเสด็จภิกขาจารเพื่อบิณฑบาตนี้ มิใช่ธรรมเนียมของขัตติยวงศ์ก็จริง แต่เป็นธรรมเนียมของพุทธวงศ์ (วงศ์ของพระพุทธเจ้า)" พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ธรรมเนียมของผู้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าและของพระสงฆ์สาวกนั้น ต้องเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพ การบิณฑบาตนั้น เป็นอาชีพอันสุจริตของนักบวชในพุทธวงศ์"
พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระเจ้าสุทโธทนะว่า "พระองค์ทรงขาดจากขัตติยวงศ์แล้ว ขาดเมื่อตอนเสด็จออกบวชก็หาไม่ ขาดเมื่อคราวบำเพ็ญเพียรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็หาไม่ แต่ขาดเมื่อคราวได้สำเร็จ คือ ภายหลังตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ได้ชื่อว่าทรงตั้งอยู่ในพุทธวงศ์"
พระพุทธเจ้าประทับยืนตรัสพระธรรมเทศนาแก่พระเจ้าสุทโธทนะ พอจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าสุทโธทนะได้ทรงบรรลุโสดาปัตติผลในขณะที่ยืนอยู่นั่งเอง ครั้นแล้วพระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงรับบาตร แล้วอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งหมู่อริยสงฆ์บรรษัทไปยังพระราชนิเวศน์เพื่อทรงรับภัตตาหาร
นายขมังธนูซึ่งพระเทวทัตส่งไปฆ่าพระพุทธองค์
ปลงอาวุธฟังธรรม สำเร็จมรรคผล
บุรุษที่นั่งประนมมือวางคันธนูไว้กับพื้นอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฏอยู่ในภาพแสดงนั้น คือนายขมังธนู (คำหน้าอ่านว่าขะหมัง) ขมัง แปลว่า นายพราน ขมังธนูก็คือนายพรานแม่นธนู อาวุธร้ายแรงที่คนใช้ยิงสังหารกันในสมัยพระพุทธเจ้าคือธนู
พระเทวทัตแนะนำอชาตศัตรู มกุฎราชกุมารให้ปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารพระราชบิดาของพระองค์แล้ว จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ พระเทวทัตกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงพระชราแล้ว ขอให้ทรงมอบตำแหน่งกิจการบริหารคณะสงฆ์ให้แก่ตนเสีย เลยถูกพระพุทธเจ้าทรงทักด้วย เขฬาสิกวาท (เขฬาสิกวาท แปลตามตัวว่า ผู้กลืนกินก้อนน้ำลาย ก้อนเสลดที่บ้วนทิ้งแล้ว คือ กลืนน้ำลายตัวเองน่ะแหละ) ความหมายเป็นอย่างนี้คือ นักบวชนั้น เมื่อออกบวชได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียสละแล้วซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ลูก เมีย ทรัพย์ และตำแหน่งฐานันดรต่างๆ พระเทวทัตก็ชื่อว่าสละสิ่งเหล่านี้เสียแล้วเมื่อตอนออกบวช แต่เหตุไฉนจึงย้อนกลับมายอมรับ ซึ่งเท่ากับมาขอกลืนกินสิ่งเหล่านี้อีก
พระเทวทัตฟังแล้วเสียใจ ผูกความอาฆาตพระพุทธเจ้ายิ่งขึ้น จึงวางแผนการกระทำรุนแรงเพื่อปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าหลายแผน เฉพาะด้านการเมืองนั้น พระเทวทัตได้ทำสำเร็จแล้ว ด้วยการเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูราชกุมารให้เลื่อมใสตนได้ แล้วราชกุมารผู้นี้ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา จนในที่สุดได้ขึ้นครองราชย์ในเวลาต่อมา ที่ยังไม่สำเร็จก็คือการปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า
ขั้นแรก พระเทวทัตได้ว่าจ้างพวกขมังธนูหลายคน ล้วนแต่มือแม่นในการยิงธนูทั้งนั้น ไปลอบยิงสังหารพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนารามในกรุงราชคฤห์ ทั้งนี้โดยพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้เห็นด้วย แต่เมื่อพวกนายขมังธนูถืออาวุธมาถึงวัดที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดมือไม้อ่อนเปลี้ยไปหมด ยิงไม่ลง เพราะพุทธานุภาพอันน่าเลื่อมใสข่ มใจให้สยบยอบลง จึงต่างวางคันธนูแล้วกราบบาทพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้พวกนายขมังธนูฟัง ฟังจบแล้ว นายขมังธนูต่างได้สำเร็จโสดาหมดทุกคน
พระเทวทัตได้สำนึกในความผิดของตน ใคร่ทูลขอขมา
แต่ถูกธรณีสูบเสียก่อนเข้าเฝ้า
เมื่อแผนการของพระเทวทัตในการปลงพระชนม์ของพระพุทธเจ้าขั้นแรก คือ จ้างนายขมังธนูลอบสังหารได้ล้มเหลวลง พระเทวทัตจึงลงมือทำเอง คือ แอบขึ้นไปบนยอดเขาคิชฌกูฏ เพราะพระเทวทัตทราบได้แน่นอนว่า ขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่เชิงเขาเบื้องล่าง พระเทวทัตจึงกลิ้งก้อนหินใหญ่ลงมา หมายให้ทับพระพุทธเจ้า ก้อนหินเกิดกระทบกันแล้วแตกเป็นก้อนเล็กก้อนน้อย สะเก็ดหินก้อนหนึ่งกระเด็นปลิวมากระทบพระบาทพระพุทธเจ้า จนทำให้พระโลหิตห้อขึ้น (โลหิตุปบาท)
แผนการที่สองล้มเหลวลงอีก ต่อมา พระเทวทัตได้แนะนำให้พระเจ้าอชาตศัตรูสั่งเจ้าพนักงานเลี้ยงช้างปล่อยฝูงช้างดุร้ายออกไล่เหยียบพระพุทธเจ้า ในขณะที่เสด็จบิณฑบาต แต่ก็ล้มเหลวลงอีก เพราะฝูงช้างไม่กล้าทำร้ายพระพุทธเจ้า
ตอนนี้เอง ความชั่วของพระเทวทัตเป็นข่าวแดงโร่ออกมา ประชาชนชาวเมืองต่างโจษจันกันเซ็งแซ่ว่า ผู้จ้างนายขมังธนูก็ดี ผู้กลิ้งก้อนหินกระทบพระบาทพระพุทธเจ้าก็ดี ผู้ปล่อยกระบวนช้างก็ดี (ในหลายที่ว่า ปล่อยช้างตัวเดียว เป็นช้างพลายเพศผู้ ชื่อ นาฬาคีรี กำลังตกมัน แล้วยังถูกมอมเหล้าถึง ๑๖ หม้อ) แม้ที่สุดพระเจ้าพิมพิสารที่เสด็จสวรรคตก็ดี เป็นแผนการของพระเทวทัตทั้งสิ้น แล้วต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า พระราชาของเราคบพระที่ลามกเช่นนี้เอง จึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
พระเจ้าอชาตศัตรูทรงได้ยินเสียงชาวเมืองตำหนิเช่นนั้น ทรงเกิดความละอายพระทัย จึงทรงเลิกไปหาพระเทวทัต สำรับกับข้าวของหลวงที่เคยพระราชทานให้พระเทวทัต ก็ทรงสั่งให้เลิกนำไปถวาย คนในเมืองนั้นก็ไม่มีใครใส่บาตรให้พระเทวทัตเลย แต่พระเทวทัตก็ยังไม่สิ้นมานะทิฐิ ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงปฏิรูปศาสนาพุทธเสียใหม่ เช่น ให้ห้ามพระสงฆ์ฉันเนื้อและปลา เป็นต้น แต่ถูกพระพุทธเจ้าปฏิเสธ พระเทวทัตจึงตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง
แต่ต่อมา สาวกพระเทวทัตที่เข้าใจผิด และเข้าไปเข้าข้างพระเทวทัต ได้พากันผละหนีกลับมาหาพระพุทธเจ้า เหลืออยู่กับพระเทวทัตไม่กี่รูป พระเทวทัตเสียใจมาก กระอักเลือดออกมา พอรู้ว่าตนจะตายก็สำนึกผิด เลยให้สาวกที่เหลืออยู่หามตนมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อขอขมาเป็นครั้งสุดท้ายแต่ไม่ทันเข้าเฝ้า เพราะพอมาถึงสระท้ายวัด พระเทวทัตเกิดอยากอาบน้ำ พอหย่อนเท้าลงเหยียบพื้นสระโบกขรณี เลยถูกแผ่นดินสูบเสียก่อน
กำเนิดมหาโจรองคุลิมาล
ทีแรกอหิงสกกุมารปฏิเสธโดยอ้างว่าท่านเกิดในตระกูลที่ไม่เบียดเบียนใคร แต่อาจารย์บอกว่าศิลปศาสตร์ที่เรียนไปแล้วถ้ามิได้บูชาครูก็จะไม่อำนวยผลที่ต้องการ ด้วยนิสัยรักวิชา อหิงสกกุมารจึงยอมปฏิบัติตาม โดยออกไปสู่ป่าชาลิวันในแคว้นโกศล อาศัยอยู่ที่หุบเขาแห่งหนึ่งคอยดักฆ่าคนเดินทางออก เที่ยวปล้นหมู่บ้านและตำบลต่าง ๆ เป็นโกลาหล ได้ฆ่าคนล้มตายเป็นจำนวนมาก
แรก ๆ อหิงสกมาณพก็ไม่ได้ตัดนิ้วชนที่ตนฆ่าเก็บเอาไว้ แต่เมื่อฆ่าคนมากเข้า ๆ ก็จำไม่ได้ว่าฆ่าไปแล้วกี่คน เพื่อเป็นเครื่องนับจำนวนคนที่ตนฆ่า อหิงสกมาณพก็ตัดเอานิ้วมือคนที่ตายคนละหนึ่งนิ้ว มาเก็บไว้ แต่เก็บ ๆ ไปก็มีนิ้วที่เสียหายไปบ้างไม่ครบจำนวน จึงเปลี่ยนมาทำเป็นพวงมาลัยคล้องคอไว้ ฉะนั้นคนจึงเรียกชื่อท่านว่า องคุลิมาล
นับแต่ออกจากสำนักอาจารย์มา องคุลิมาลก็คอยดักซุ่มฆ่าคนเรื่อยไป เจอใครฆ่าหมดไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายคนเฒ่าคนแก่เด็กเล็กเด็กแดงไม่เลือก จนไม่มีใครสามารถไปป่าเพื่อหาฟืนเป็นต้น ในตอนกลางคืนก็เข้ามายังภายในบ้านเอาเท้าถีบประตู แล้วก็ฆ่าคนที่นอนนั้นแหละ หมู่บ้านก็ร่นถอยไปตั้งในนิคม.นิคมก็ร่นถอยไปตั้งอยู่ในเมือง พวกมนุษย์ทิ้งบ้านเรือนจูงลูกเดินทางมาล้อมพระนครสาวัตถี เป็นระยะทางถึงสามโยชน์ ตั้งค่ายพักประชุมกันที่ลานหลวง ต่างคร่ำครวญกล่าวกันว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในแว่นแคว้นของพระองค์ มีโจรชื่อองคุลิมาล
พราหมณ์ปุโรหิตได้ยินเรื่องดังนั้นก็รู้ว่า โจรองคุลิมารนั้นต้องเป็นบุตรของเราเป็นแน่ จึงกล่าวกะนางพราหมณีว่า เกิดโจรชื่อองคุลิมาลขึ้นแล้ว โจรนั้นคงไม่ใช่ใครอื่น ต้องเป็นอหิงสกกุมาร ลูกของเราเป็นแน่ บัดนี้ พระราชาจะเสด็จออกไปจับเขา เราควรจะทำอย่างไร นางพราหมณีพูดว่า ฉันจะไปพาลูกของฉันมา ดังนี้ จึงออกเดินทางเพื่อไปบอกลูกบุตรชายให้หนีไปเสีย.
เวลานั้นโจรองคุลิมาลได้นิ้วมือมาเพียง ๙๙๙ นิ้ว ยังขาดอยู่นิ้วเดียวเท่านั้น จึงกระหายเป็นกำลังและตั้งใจว่าถ้าพบใครก่อนก็จะฆ่าทันทีเพื่อจะได้นิ้วมือครบตามต้องการ แล้วจะได้ตัดผมโกนหนวดอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วไปเยี่ยมบิดามารดา
เช้าตรู่วันนั้นพระบรมศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกทรงเห็นว่าองคุลิมาลเป็นผู้มีอุปนิสัยพอที่จะโปรดให้บรรลุมรรคผลได้ และทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าพระองค์มิได้เสด็จไปโปรด องคุลิมาลก็จะกระทำมาตุฆาต ฆ่ามารดาของตนเสีย จะเป็นผู้กระทำอนันตริยกรรม ไม่สามารถบรรลุธรรมใด ๆ ได้ในชาตินี้ แม้จะได้ฟังธรรมโดยตรงจากพระพุทธองค์ พระองค์จึงเสด็จจาริกมุ่งตรงไปยังป่าชาลิวันเป็นระยะทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อสกัดองคุลิมาลไว้มิให้ทันได้ฆ่ามารดา
ธรรมดาการเสด็จจาริกของพระผู้มีพระภาคเจ้า มี ๒ อย่างคือ เสด็จจาริกอย่างรีบด่วน ๑ เสด็จจาริกอย่างไม่รีบด่วน ๑. ใน ๒ อย่างนั้น การที่พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นบุคคลที่ควรให้ตรัสรู้ได้แม้ในที่ไกล ก็จะเสด็จไปโดยเร็วเพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้ของเขา ชื่อว่าเสด็จจาริกอย่างรีบด่วน. เช่นในการเสด็จไปเพื่อประโยชน์แก่พระอังคุลิมาลในครั้งนี้
ในระหว่างทางนั้นพวกคนเลี้ยงโคได้พากันวิ่งเข้าไปกราบทูลขอร้องถึง ๓ ครั้ง มิให้เสด็จไปหาองคุลิมาลเพราะกลัวพระองค์จะได้รับอันตราย แต่พระพุทธองค์ทรงเฉยเสียแล้วเสด็จดำเนินต่อไปจนถึงป่าชาลิวัน
โจรองคุลิมาลได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ก็คิดว่าน่าประหลาดจริงหนอ เมื่อก่อน แม้พวกบุรุษมากันสิบคนก็ดี ยี่สิบคนก็ดี สามสิบคนก็ดี สี่สิบคนก็ดี ก็ยังต้องรวมเป็นกลุ่มเดียวกันเดินทาง แต่ถึงอย่างนั้น บุรุษพวกนั้นยังต้องตายเพราะมือเรา นี่มีเพียงสมณะนี้ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนมาด้วย ชะรอยสมณะนี้คงจะมีดีอะไรสักอย่างแล้วจะมาลองดีกับเรา ถ้ากระไร เราพึงปลิดชีวิตสมณะนี้เถิด ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรถือดาบและโล่ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคไปทางพระปฤษฎางค์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ ในลักษณะที่องคุลิมาลจะวิ่งจนสุดกำลัง ก็ไม่อาจทันพระผู้มีพระภาค ผู้เสด็จไปตามปกติได้
เมื่อเป็นดังนั้น องคุลิมาลโจรก็ได้มีความคิดว่า น่าอัศจรรย์จริง เมื่อก่อนนี้ แม้ช้างกำลังวิ่ง ม้ากำลังวิ่ง รถกำลังแล่น เนื้อกำลังวิ่ง เราก็ยังวิ่งตามจับได้ แต่ว่านี่เราวิ่งจนสุดกำลัง ยังไม่อาจทันสมณะนี้ซึ่งเดินไปตามปกติได้ คิดดังนี้แล้ว จึงหยุดยืนกล่าวกะพระผู้มีพระภาคว่า จงหยุดก่อนสมณะ จงหยุดก่อนสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เราหยุดแล้ว องคุลิมาล ท่านเล่าจงหยุดเถิด
ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรคิดอยู่ว่า สมณศากยบุตรเหล่านั้น ปกติมักเป็นคนพูดจริงมีปฏิญญาจริง แต่สมณะรูปนี้ กำลังเดินไปอยู่แท้ ๆ กลับพูดว่า เราหยุดแล้ว คงจะต้องมีนัยอะไรสักอย่าง เราน่าจะถามสมณะรูปนี้ดูจะดีกว่า
ครั้งนั้น องคุลิมาลโจรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค สมณะ ท่านกำลังเดินไป ยังกล่าวว่า เราหยุดแล้ว และยังกล่าวกะข้าพเจ้าผู้หยุดแล้ว ว่าไม่หยุด สมณะ ข้าพเจ้าขอถามท่านว่า ท่านหยุดแล้วเป็นอย่างไร ข้าพเจ้ายังไม่หยุด เป็นอย่างไร?
พระพุทธองค์มีพระดำรัสตอบว่า “องคุลิมาลเราได้หยุดคือเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิตแล้ว ส่วนตัวเธอยังไม่หยุด คือยังฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอยู่ เราจึงพูดเช่นนั้น“ องคุลิมาลได้ยินพระสุรเสียงอันแจ่มใส พระดำรัสที่คมคายเช่นนั้น ก็เกิดใจอ่อน รู้สึกสำนึกผิดได้ทันทีแล้ววางดาบ ทิ้งธนู สลัดแล่งโยนทิ้งลงเหวที่หุบเขา เข้าไปถวายบังคมพระบาทยุคลของพระพุทธองค์ ทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยได้ทรงพิจารณาเห็นว่าองคุลีมาลนั้นถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยและได้เคยถวายภัณฑะ คือ บริขารแปด แก่ท่านผู้มีศีลในปางก่อน ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาออกจากบังสุกุลจีวร เปล่งพระสุรเสียง ตรัสเรียกว่า เธอ จงมาเป็นภิกษุเถิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พร้อมกับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ขององคุลีมาลนั้นก็อันตรธานไป บรรพชาและอุปสมบทก็สำเร็จ องคุลิมาลนั้นก็เป็นผู้ปลงผมนุ่งห่มผ้ากาสาวะ คือนุ่งผ้าอันตรวาสก ผืนหนึ่ง ห่มผ้าอุตราสงค์ ผืนหนึ่ง พาดผ้าสังฆาฏิไว้บนบ่าผืนหนึ่ง มีบาตรดินที่มีสีเหมือนดอกอุบลเขียวคล้องไว้ที่บ่าข้างซ้าย พร้อมด้วยบริขารอื่น คือ มีดโกน เข็ม และผ้ารัดประคดเอว และ ผ้ากรองน้ำ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ เหมือนพระเถระอายุพรรษาตั้งร้อยพรรษา มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอาจารย์ มีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌายะ ยืนถวายบังคมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทีเดียว.
พระบรมศาสดาก็เสด็จพาองคุลิมาลภิกษุไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ณ กรุงสาวัตถี
หลังจากที่ท่านพระองคุลิมาลได้บวชแล้ว ท่านก็ได้รับความลำบากในเรื่องการบิณฑบาต แรก ๆ ท่านก็ออกบิณฑบาตภายนอกพระนคร แต่พวกชาวบ้านพอเห็นท่านแล้วย่อมสะดุ้งบ้าง ย่อมหนีเข้าป่าไปบ้าง ย่อมปิดประตูบ้าง บางพวกพอได้ยินว่า องคุลิมาล ก็วิ่งหนีเข้าเรือนปิดประตูเสียบ้าง เมื่อไม่อาจหนีได้ทันก็ยืนผินหลังให้ พระเถระไม่ได้แม้ข้าวยาคูสักกระบวยหนึ่ง แม้ภัตสักทัพพีหนึ่ง เมื่อท่านเห็นว่าไม่สามารถบิณฑบาตได้ภายนอกพระนครก็เข้าไปบิณฑบาตยังในพระนคร แต่พอเข้าไปทางประตูเมืองนั้น ก็เป็นเหตุให้มีเสียงตะโกนระเบิดออกมาเป็นพัน ๆ เสียงว่าองคุลิมาลมาแล้ว ๆ
บัญญัติพระวินัยเรื่องการให้บวชโจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง
ในเรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยไว้โดยที่ในเรื่องนี้ประชาชนได้เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงให้โจรที่ขึ้นชื่อโด่งดังบวชเล่า. ภิกษุทั้งหลายได้ยินพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.
พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โจรที่ขึ้นชื่อโด่งดัง ภิกษุไม่พึงให้บวช รูปใดให้บวช ต้องอาบัติทุกกฎ.
ต่อมา ท่านเข้าไปบิณฑบาตในเมือง เห็นหญิงคลอดลูกไม่ออกคนหนึ่งจึงเกิดความสงสาร เมื่อกลับจากบิณฑบาตแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับเรื่องพระเถระลำบากด้วยภิกษาหาร เพื่อจะสงเคราะห์พระเถระนั้นโดยการลดความหวาดกลัวของประชาชนลง พระองค์จึงทรงมีพระประสงค์จะให้พระเถระแสดงสัจจกิริยาอนุเคราะห์แก่สตรีผู้เจ็บครรภ์เพื่อให้ชนทั้งหลายเห็นว่า บัดนี้พระองคุลิมาลเถระกลับได้มีเมตตาจิต กระทำความสวัสดีให้แก่พวกมนุษย์ด้วยสัจจกิริยา ฉะนั้นชนทั้งหลายย่อมคิดว่าควรเข้าไปหาพระเถระ ต่อแต่นั้นพระเถระก็จะไม่ลำบากด้วยภิกษาหาร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร องคุลิมาล ถ้าอย่างนั้น เธอจงเข้าไปหาสตรีนั้นและกล่าวกะสตรีนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์จากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด.
ท่านพระองคุลิมาลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าข้าพระองค์กล่าวเช่นนั้นก็จะเป็นว่าข้าพระองค์กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่เป็นแน่ เพราะข้าพระองค์แกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตเป็นอันมาก.
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ดูกร องคุลิมาล ท่านอย่าถือเอาเหตุนั้นเลย นั่นไม่ใช่ชาติของท่าน นั่นเป็นเวลาเมื่อเป็นคฤหัสถ์ ธรรมดาคฤหัสถ์ย่อมฆ่าสัตว์.บ้าง ย่อมกระทำอทินนาทานเป็นต้นบ้าง แต่บัดนี้ ชาติของท่านชื่อว่า อริยชาติ.เพราะฉะนั้น ท่านถ้ารังเกียจจะพูดอย่างอย่างนั้น ท่านจงเข้าไปหาสตรีนั้น แล้วกล่าวกะสตรีนั้นอย่างนี้ว่า ดูกรน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วในอริยชาติ จะได้รู้สึกว่าแกล้งปลงสัตว์เสียจากชีวิตหามิได้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด.
พระองคุลิมาลทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาหญิงนั้นถึงที่อยู่ เพื่อกระทำสัจจกิริยาให้หญิงนั้รคลอดโดยสวัสดี ก็โดยปกติแล้ว การคลอดบุตร ของหญิงทั้งหลาย ผู้ชายไม่ควรจะเข้าไป ญาติของหญิงนั้นจึงกั้นม่านปูลาดตั่งไว้ภายนอกม่านไว้ให้พระเถระ พระเถระจึงนั่งลงบนตั่งนั้น และกระทำสัจจกิริยา ครั้นสิ้นคำสัจจกิริยานั้นทารกก็ออกจากครรภ์มาดาอย่างง่ายดาย ดุจเทน้ำออกจากกระบอก ทั้งมารดาทั้งบุตรต่างก็มีความปลอดภัย
คำสัจจกิริยาของพระเถระนี้ มหาชนต่างก็ถือว่าเป็นพระปริตรอันศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศไทยเองก็ได้อยู่ในบทสวดทั้งเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน ชื่อว่า องคุลิมาลปริต ในครั้งนั้น แม้กระทั่งตั่งที่พระเถระนั่งกระทำสัจจกิริยา ชนทั้งหลายเพียงนำสัตว์ดิรัจฉานตัวเมียที่มีครรภ์คลอดลำบากมาให้นอนที่ตั่งนั้น ก็จะคลอดออกได้โดยง่าย แม้แต่ตัวใดที่พิการนำมาไม่ได้ ก็เพียงแต่เอาน้ำล้างตั่งนั้นไปรดศีรษะ ก็คลอดออกได้ในขณะนั้นทีเดียว แม้โรคอย่างอื่นก็สงบไป ได้ยินว่า พระมหาปริตนี้มีปาฏิหาริย์ตั้งอยู่ตลอดกัป.
ตั้งแต่นั่นมาปัญหาเรื่องภิกษาหารของพระเถระก็หมดไป แต่พระประสงค์ของพระพุทธองค์ในการที่จะให้พระเถระกระทำสัจจกิริยาด้วยถ้วยคำดังกล่าวข้างต้น ด้วยทรงมีพระพุทธประสงค์อีกประการหนึ่งก็คือ ในอดีตตั้งแต่พระเถระบรรพชาแล้ว ท่านก็เพียรในสมณธรรม แต่เมื่อขณะที่พระเถระกระทำกัมมัฏฐานนั้น ท่านก็ไม่สามารถทำความสงบให้เกิดขึ้นแก่จิตได้ ด้วยภาพแห่งการกระทำที่ในดง เช่นการฆ่าพวกมนุษย์ ภาพการโอดครวญวิงวอนของเหล่ามนุษย์ที่ท่านกำลังจะฆ่า ว่า ข้าพเจ้าเป็นคนเข็ญใจ ข้าพเจ้ายังมีบุตรเล็ก ๆ อยู่ โปรดให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้าเถิดนาย ภาพความวิการแห่งมือและเท้าก็ดี ของคนเหล่านั้น ดังนี้ ย่อมมาสู่จิตของท่าน จนท่านไม่สามารถกระทำสมณธรรมได้ต้องลุกไปเสียจากที่นั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ให้พระเถระกระทำสัจจกิริยาโดยอ้างอริยชาติ ด้วยทรงเล็งเห็นว่า พระองคุลิมาลต้องกระทำชาติ(ที่เป็นคฤหัสถ์)นั้นให้เป็นอัพโพหาริก (เป็นโมฆะ) คือให้พระเถระไม่คิดถึงเรื่องในเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ แต่ให้ท่านได้มีความเข้าใจว่าท่านเกิดใหม่ในอริยชาติแล้ว ให้ท่านคิดดังนี้เสียก่อนแล้วเจริญวิปัสสนา จึงจักบรรลุพระอรหัตต์ได้
ต่อมาภิกษุองคุลิมาลก็หลีกออกจากคณะไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ผู้เดียวไม่นานเท่าไรนักก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ในการสำเร็จเป็นพระอรหันต์ของพระองคุลิมาลเถระนั้น ไม่เป็นที่ปรากฏชัดแก่ภิกษุบางเหล่า ดังเช่นมีเรื่องเล่าว่า
สมัยหนึ่ง ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกไปตามชนบทแล้วทรงมาถึงพระเชตวัน มหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงกระทำมหาทานแข่งกับพวกประชาชน โดยได้นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมเหล่าภิกษุทั้งหมดมาเพื่อจะถวายทาน. ในวันที่สองพวกชาวกรุงถวาย. พระราชาทรงถวายยิ่งกว่าทานของพวกชาวกรุงเหล่านั้นอีก พวกชาวกรุงก็ถวายยิ่งกว่าทานของพระองค์ เป็นดังนี้ ครั้นเมื่อล่วงไปหลายวันอย่างนั้น พระราชาทรงเกรงว่าจะแพ้พวกชาวกรุง. ทีนั้นพระนางมัลลิกาเทวีผู้เป็นพระมเหสีได้กราบทูลขอจัด อสทิสทาน ถวาย.ในอรรถกถากล่าวว่า อสทิสทานนั้น จะมีในพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ และในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ นั้น จะมีได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น พระนางมัลลิกาเทวีได้ทรงกราบทูลให้พระราชาจัดทานดังนี้
ให้เขาทำมณฑปสำหรับพระพุทธองค์ทรงประทับภายในวงเวียน ภิกษุที่เหลือนั่งภายนอกวงเวียน; จัดช้าง ๕๐๐ เชือกถือเศวตฉัตร ๕๐๐ คัน ยืนกั้นอยู่เบื้องบนแห่งภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป จัดทำเรือทองคำ ๑๐ ลำวางไว้ ณ ท่ามกลางมณฑป เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ จัดให้นั่งบดของหอมอยู่ในระหว่างภิกษุ ๒ รูป เจ้าหญิงองค์หนึ่งๆ จักถือพัด ยืนพัดภิกษุ ๒ รูป เจ้าหญิงที่เหลือ จัดให้นำของหอมที่บดแล้วมาใส่ในเรือทองคำทั้งหลาย ในบรรดาเจ้าหญิงเหล่านั้น เจ้าหญิงบางพวกให้ถือกำดอกอุบลเขียว เคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้ว
เพราะเหล่าชาวเมืองย่อมหาเจ้าหญิงไม่ได้ ย่อมหาเศวตฉัตรไม่ได้ ย่อมหาช้างไม่ได้ ด้วยของเหล่านี้เป็นของที่มีเฉพาะกับพระราชาเท่านั้น ชาวเมืองก็จะต้องแพ้อย่างแน่นอน
พระราชาจึงรับสั่งให้จัดมหาทานตามวิธีที่พระนางกราบทูลแล้ว แต่ก็ปรากฏว่าช้างยังขาดไปเชือกหนึ่ง พระราชาตรัสบอกว่าพระนางมัลลิกา ที่จริง มีช้างพอ ๕๐๐ เชือก แต่ช้างที่เหลืออยู่เป็นช้างดุร้าย เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายเข้าก็จะพยศ
พระเทวีจึงทูลพระราชาว่า ให้จัดเอาช้างที่ดุร้ายนั้นยืนอยู่ข้างพระผู้เป็นเจ้าที่ชื่อว่าองคุลิมาล
พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำอย่างนั้น ก็ปรากฏว่าด้วยเดชของพระเถระ ช้างเชือกนั้น แม้สักว่าพ่นลมจมูก ก็ทำไม่ได้ ช้างสอดหางเข้าในระหว่างขา ได้ปรบหูทั้งสอง หลับตายืนอยู่แล้ว.
ครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายถามพระองคุลิมาลว่า ท่านเห็นช้างตัวดุร้าย ยืนกั้นฉัตรอยู่แล้ว ไม่กลัวหรือ พระองคุลิมาลตอบว่า ไม่กลัว ภิกษุเหล่านั้น จึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า พระองคุลิมาล พยากรณ์พระอรหัตด้วยคำไม่จริง เพราะเนื่องจากมีเฉพาะผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่กลัวความตาย พระศาสดาทรงตรัสว่า พระองคุลิมาลมิได้พูดเท็จ เพราะว่า ภิกษุผู้เป็นพระขีณาสพย่อมไม่กลัว
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อครั้งพระเถระปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า พระองคุลิมาลเถระเมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะไปบังเกิดที่ไหน ? พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสภิกษุทั้งหลายว่านั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ปรารภกันถึงเรื่องที่พระองคุลิมาลเถระจะไปบังเกิด พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า พระเถระไม่มาเกิดอีกแล้วเพราะท่านได้ปรินิพพาน (หมายถึงบรรลุพรหัตผล) แล้ว เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า พระองคุลิมาลเถระฆ่ามนุษย์เป็นจำนวนมากเช่นนั้น ท่านได้ปรินิพพานแล้วหรือ พระพุทธองค์จึงตรัสรับรองว่าเป็นอย่างนั้น เพราะท่านพระองคุลิมาลก่อนนั้นท่านไม่ได้กัลยามิตรสักคนหนึ่ง จึงได้ทำบาปอย่างนั้นในกาลก่อน แต่ภายหลังเธอได้กัลยาณมิตรเป็นปัจจัย จึงได้เป็นผู้ไม่ประมาท เหตุนั้น ท่านจึงสามารถละบาปกรรมนั้นได้แล้วด้วยกุศล
พระพุทธองค์ทรงทรมานพระองคุลิมาลในอดีตชาติ
ตั้งแต่พระอังคุลิมาลเถระนั้น ได้กระทำความสวัสดีแก่หญิงผู้มีครรภ์หลงด้วยทำความสัตย์แล้ว จำเดิมแต่นั้นมาก็ได้อาหารสะดวกขึ้น ได้ปฏิบัติธรรมโดยการเจริญวิเวกอยู่แต่ผู้เดียว ต่อมาไม่นานท่านก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระอรหันต์มีชื่อปรากฏนับเข้าในภายในพระอสีติมหาเถระ ๘๐ องค์ ในครั้งนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า ช่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ หนอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทรมานพระองคุลิมาล ผู้เป็นมหาโจรมีฝ่ามืออันชุ่มด้วยเลือด ร้ายกาจเห็นปานนั้น โดยไม่ต้องใช้ทัณฑะหรือศัสตรา ทำให้หมดพยศได้ ทรงกระทำกิจที่ทำได้โดยยาก ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยากอย่างน่าอัศจรรย์
พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ได้ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นด้วยทิพโสต ก็ทรงพระดำริว่าพระธรรมเทศนาที่เราจักแสดงวันนี้จะมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงดังนี้ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จไปยังธรรมสภา ประทับนั่งบนอาสนะที่พวกภิกษุจัดไว้ถวายแล้วตรัสถามว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราผู้ได้ทรมานพระองคุลิมาลได้ในบัดนี้ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้เมื่อครั้งในอดีตเราก็ทรมานพระองคุลิมาลนี้ได้ ตรัสดังนี้แล้วทรงนิ่งอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานแสดงดังต่อไปนี้
รับกรรมที่มาตามสนอง
ครั้งหนึ่งท่านได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ในครั้งนั้นก็ปรากฏว่า ก้อนดิน ท่อนไม้ ก้อนกรวดที่บุคคลแม้ขว้างไปในทิศทางอื่น ก็ปรากฏให้สิ่งเหล่านั้นมาตกต้องกายของท่านพระองคุลิมาล ท่านพระองคุลิมาลศีรษะแตก โลหิตไหล บาตรก็แตก ผ้าสังฆาฏิก็ฉีกขาด ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรท่านพระองคุลิมาลเดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ตรัสกะท่านพระองคุลิมาลว่า เธอจงอดกลั้นไว้เถิด เธอได้เสวยผลกรรมซึ่งเป็นเหตุจะให้เธอนั้นหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดชั่วกาลนานนั้น เพียงในปัจจุบันนี้เท่านั้น.
(credit from http://www.dharma-gateway.com/monk/great_monk/pra-ong-kulee-marn.htm)
นางจิญจมาณวิกา
ในปฐมโพธิกาล คือระยะต้นแห่งการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า เมื่อพระสาวกของพระองค์มีมากประมาณไม่ได้ เมื่อเทวดาและมนุษย์เป็นจำนวนมากหยั่งลงในอริยภูมิ คือภูมิแห่งพระอริยะ คือเป็นพระอริยะ และเมื่อคุณสมุทัย คือเหตุที่จะให้ทราบถึงพระคุณของพระศาสดากำลังแผ่ไพศาลอยู่นั้นเอง ลาภสักการะและความนับถือเป็นอันมาก เกิดขึ้นแก่พระศาสดาและพระสาวก พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย เป็นเช่นกับแสงหิ่งห้อย ท่ามกลางแสงอาทิตย์ เสื่อมจากลาภสักการะเพราะไม่มีใครนับถือ หรือมีผู้นับถือน้อยลงมาก
พวกเดียรถีย์ก็มายืนอยู่กลางถนนแล้วประกาศว่าพระโคดมเท่านั้นหรือที่เป็นพระพุทธเจ้า พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ทานที่ให้แก่พระสมณโคดมเท่านั้นหรือที่มีผลมาก ทานที่ให้แก่พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงให้ทานแก่พวกเราบ้าง
เรียกว่าขอกันดื้อๆ เลยทีเดียว แม้กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะกระทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นได้ จึงประชุมกันว่า พวกเราควรจะหาโทษใส่พระสมณโคดมสักอย่างหนึ่ง ให้คนทั้งหลายหมดความเชื่อ หมดความเลื่อมใสในพระสมณโคดม ลาภสักการะ ความนับถือจะได้เกิดขึ้นกับพวกเราดังเดิม เขาตกลงกันว่าจะใช้หญิงหนึ่งทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า อันนี้ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส
กิเลสเป็นสิ่งน่ากลัว บรรดาศัตรูทั้งหลาย กิเลสเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของมนุษย์เรา เรื่องที่ยุ่งๆ กันอยู่ในสังคมมนุษย์ ก็มีกิเลสเป็นแดนเกิด คือต้นเหตุอยู่ที่กิเลส มันถึงทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากมากมายในสังคมมนุษย์ ในสังคมใดที่คนมีกิเลสน้อย เรื่องยุ่งยากก็มีน้อย แต่พอมีกิเลสมากขึ้น หรือว่าไม่สามารถดับมันได้ ระงับมันอยู่ มันก็สร้างปัญหาต่างๆ สร้างเรื่องต่างๆ ให้เกิดขึ้น ใส่ร้ายผู้อื่นบ้าง กล่าวร้ายผู้อื่นบ้าง ทำร้ายผู้อื่นบ้าง มากมายเหลือที่จะคณานับ เพราะว่าดูเรื่องราวยิ่งดูก็ยิ่งสังเวชใจในพฤติกรรมของมนุษย์ ทำไมมนุษย์จึงทำกันได้ถึงขนาดนี้ ทำลายและทำร้ายกันได้ถึงขนาดนี้
นี่ก็ทำนองเดียวกัน แรงริษยาที่เกิดขึ้นในใจของพวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลาย ก็ใส่ร้ายป้ายสีพระพุทธเจ้า และได้เครื่องมือคือหญิงคนหนึ่ง
ในครั้งนั้น มีหญิงคนหนึ่งชื่อจิญจมาณวิกา รูปสวยมาก ท่านกล่าวว่า สวยงามเหมือนเทพอัปสร แต่เราก็ไม่เคยเห็นเทพอัปสรหรือเทพธิดา ก็ไม่รู้ว่าสวยขนาดไหน ต้องถามท่านที่เคยเห็น ท่านว่ารัศมีออกจากกายของเธอ น่าดูน่าชม เป็นพวกเดียวกับเดียรถีย์
วันหนึ่ง ขณะที่นางจิญจมาณวิกาปริพาชิกา ไปหาพวกเดียรถีย์ที่อาราม ทำความเคารพแล้วยืนอยู่ ที่เคยมานั้นเดียรถีย์ก็ย่อมแสดงอาการยินดีต้อนรับเมื่อนางมา แต่วันนั้นทุกคนเฉยไปหมด นางพูดว่า
“พระคุณเจ้า ดิฉันไหว้” อย่างนี้ถึง 3 ครั้ง แต่พวกเดียรถีย์ก็ยังคงเฉยดังเดิม นางคิดว่าเธออาจมีความผิดอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงถามว่า “ดิฉันมีความผิดอะไรหรือ ดิฉันได้ทำอะไรให้ไม่เป็นที่พอใจพระคุณเจ้าหรือ จึงพากันนิ่งไปหมด ไม่ยอมพูดกับดิฉัน”
เดียรถีย์จึงกล่าวขึ้นว่า “เจ้าไม่ทราบดอกหรือว่าเวลานี้ลาภสักการะของเราเสื่อมหมดแล้วเพราะใคร เพราะพระสมณโคดมคนเดียว เจ้าไม่รู้สึกเจ็บร้อนแทนพวกเราบ้างเลยหรือ”
จิญจมาณวิกาตอบว่า “ความทุกข์ของพระคุณเจ้าทั้งหลายก็เหมือนความทุกข์ของดิฉันเอง ไว้เป็นหน้าที่ของดิฉันเถิด จะจัดการให้เรียบร้อย ทำลาภสักการะให้เกิดแก่พระคุณเจ้าทั้งหลายดังเดิม”
พูดอย่างนี้แล้วก็จากไป นางก็วางแผนว่าจะทำอย่างไร นางก็เริ่มแต่งกายอย่างดี ห่มผ้าสีสวยเหมือนสีปีกแมลงก้อนทอง ถ้าไม่ผิดก็เป็นสีเขียวและมีสีทองปนอยู่ ถือของหอมและดอกไม้มุ่งหน้าไปวัดเชตวัน ในเวลาที่ชาวเมืองสาวัตถีฟังธรรมแล้วก็กลับออกมา นางเดินสวนเข้าไป เมื่อมหาชนถามว่าจะไปไหนเวลานี้ นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านในการไปหรือการมาของข้าพเจ้า”
อย่างนี้แล้วก็เดินผ่านวัดเชตวันไปพักวัดของพวกเดียรถีย์ ใกล้วัดเชตวันนั้นเอง ตอนเช้าเมื่ออุบาสกอุบาสิกาชาวนครสาวัตถีออกจากนครไปวัดเชตวัน เพื่อถวายบังคมพระศาสดา นางจิญจมาณวิกาทำทีเหมือนตนพักอยู่ในวัดเชตวันทั้งคืน ด้วยการเดินสวนออกมา
เมื่อถูกถามว่า พักอยู่ที่ไหน นางตอบว่า “ธุระอะไรของพวกท่านกับที่พักของข้าพเจ้า” นางทำอยู่อย่างนี้ประมาณ 2 เดือน
เมื่อคนทั้งหลายถามอีก จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าพักอยู่ในพระคันธกุฎีของพระสมณโคดม ในวัดเชตวันนั่นเอง”
ชาวพุทธที่เป็นปุถุชนทั้งหลายสงสัยกันมากว่า ข้อความที่นางจิญจมาณวิกากล่าวนั้น เป็นความจริงหรือหนอ ส่วนพระอริยบุคคลไม่มีใครเชื่อเลย
ล่วงไป 3-4 เดือน นางเอาผ้าพันท้องให้หนาขึ้นเพื่อแสดงว่ามีครรภ์ และให้คนทั้งหลายเข้าใจว่านางตั้งครรภ์เพราะร่วมอภิรมย์กับพระโคดมบรมศาสดาที่คันธกุฎีในวัดเชตวัน
พอถึงเดือนที่ 8 ที่ 9 นางก็เอาไม้กลมๆ ผูกไว้ที่ท้อง เอาผ้าห่มทับไว้ ให้คนเอาไม้คางโคทุบหลังมือหลังเท้าให้บวมขึ้น ให้มีอวัยวะต่างๆบอบช้ำ ล่อลวงคนทั้งหลายให้เข้าใจว่าตนมีครรภ์แก่จวนคลอดเต็มทีแล้ว
เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ ท่ามกลางพุทธบริษัทในธรรมสภา นางได้เข้าไปยืนตรงพระพักตร์พระตถาคตเจ้า แล้วก็กล่าวว่า
“มหาสมณะ พระองค์ดีแต่แสดงธรรมแก่มหาชนเท่านั้น กระแสเสียงของพระองค์ไพเราะยิ่งนัก พระโอษฐ์ของพระองค์ดูสนิทดี แต่พระองค์มิได้สนพระทัยในหม่อมฉันเลย หม่อมฉันซึ่งตั้งครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้ว ครรภ์นี้อาศัยพระองค์ตั้งขึ้น พระองค์ไม่เอาพระทัยใส่ต่อเครื่องบริหารครรภ์เลย แม้ไม่ทำเองก็ควรตรัสบอกสานุศิษย์คนใดคนหนึ่ง เช่น นางวิสาขา หรืออนาถบิณฑิกะ หรือพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้ช่วยเหลือในการนี้ พระองค์ทรงรู้แต่การอภิรมย์อย่างเดียว แต่ไม่ทรงสนพระทัยในการคลอดของหม่อมฉันเลย”
ความพยายามของนางเป็นเหมือนจับก้อนคูถขึ้นปาพระจันทร์ พระตถาคตเจ้าหยุดแสดงธรรมอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อนางพูดจบ พระองค์ก็ตรัสด้วยพระกระแสเสียงอันเรียบว่า
“น้องหญิง เรื่องนี้เราทั้งสองคนเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”
นางจิญจมาณวิกาโกรธมาก เต้นด่าพระตถาคตเจ้าจนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้กลมเกลี้ยงหล่นลงมาจากท้องของนาง
อันนี้ขอเล่าเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ ถ้าเล่าตามตำนานในอรรถกถา ท่านกล่าวว่า เมื่อพระศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว ก็ร้อนถึงท้าวสักกะเทวราช เทวดามาช่วย ท้าวสักกะมาถึงด้วยเทพบุตร 4 องค์ เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่นางผูกไว้ จนเชือกขาด ผ้าและท่อนไม้ก็หล่นลงมา อรรถกถาท่านว่าอย่างนั้น
มหาชนได้เห็นกับตาเช่นกัน ก็แช่งด่านางจิญจมาณวิกาว่าเป็นหญิงกาลกรรณี ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ก็พากันถ่มน้ำลายใส่บ้าง ขว้างด้วยก้อนดินและท่อนไม้ใส่บ้าง ฉุดกระชากออกไปจากวัดเชตวัน พอลับคลองพระเนตรของพระศาสดาไปเท่านั้น นางจิญจมาณวิกาก็ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในอเวจีมหานรก
วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา ถึงเรื่องที่นางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้าแล้วถูกแผ่นดินสูบ พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนนางจิญจมาณวิกานี้ ก็เคยหาเรื่องใส่ร้ายเราตถาคตแล้วเหมือนกัน และก็ถึงความพินาศเหมือนกัน ดังนี้แล้วตรัสใจความสำคัญในมหาปทุมชาดกว่า
“ผู้เป็นใหญ่ ยังไม่เห็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่นโดยประการทั้งปวงแล้ว ไม่พิจารณาด้วยตนเองแล้ว ไม่พึงลงโทษหรืออาชญา
ความย่อในมหาปทุมชาดก
ครั้งนั้นนางจิญจมาณวิกา เป็นหญิงร่วมสามีกับพระมารดาของพระมหาปทุมกุมาร นางเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระราชา คือพระราชบิดาของพระมหาปทุมโพธิสัตว์
นางมีจิตประดิพัทธ์ในมหาปทุมนั้น จึงเย้ายวนชวนเชิญให้ประกอบกามกิจกับนาง แต่พระโพธิสัตว์ไม่ทรงยินยอมตาม ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมควร
นางจึงแกล้งทำอาการว่าเป็นไข้ และมีอาการแห่งผู้ตั้งครรภ์ เมื่อพระราชาตรัสถามก็ใส่ความว่า มหาปทุมกุมารราชโอรสของพระองค์ ทำให้หม่อมฉันมีอาการอันแปลกนี้
พระราชาทรงกริ้ว จึงให้ทิ้งพระโพธิสัตว์ลงในเหวที่ทิ้งโจร เทวดาที่สิงสถิตอยู่อุ้มพระโพธิสัตว์ไว้ ให้ประดิษฐานอยู่ที่พังพานนาคราช พระยานาคราชนำท่านไปสู่นาคพิภพ แบ่งราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง
พระโพธิสัตว์อยู่ในนาคพิภพปีหนึ่ง อยากจะบวช จึงไปสู่หิมวันตประเทศ บวชได้ฌานและอภิญญา
อันนี้ก็แสดงถึงว่า คนดีเมื่อตกทุกข์ได้ยากก็จะมีผู้ช่วยเหลือ จะเป็นใครก็แล้วแต่ แล้วก็นำไปให้ได้รับความสุขพอสมควรแก่อัตภาพ แต่ท่านก็ไม่พอใจในสภาพเช่นนั้น ก็อยู่ไประยะหนึ่งแล้วก็มีความสังเวชสลดใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็อยากบวชแล้วไปบวชที่หิมวันตประเทศ ได้ฌานและอภิญญา
ต่อมาพรานไพรผู้หนึ่งมาพบพระโพธิสัตว์เข้าจำได้ จึงกลับไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จมาเฝ้า ทรงทราบเรื่องความเป็นมาทั้งหมดแล้ว ทรงเชื้อเชิญให้ไปครองราชสมบัติ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ ขอร้องให้พระราชาทรงครองแผ่นดินโดยธรรม อย่าได้มีอคติ
พระราชาเสด็จกลับพระนคร ให้จับพระมเหสีผู้กลั่นแกล้งใส่ร้ายพระโพธิสัตว์นั้นไปทิ้งที่เหวทิ้งโจร แล้วครองแผ่นดินโดยธรรม
อันนี้เรียกว่ากรรมสนอง ถึงเวลาที่กรรมที่ได้กระทำไว้มาสนอง แต่ว่าคนที่ไม่ดีก็ไม่มีใครช่วย ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมของตนไป
พระศาสดาทรงประชุมชาดกว่า หญิงผู้นั้นในกาลนั้นมาเป็นนางจิญจมาณวิกา ส่วนพระมหาปทุมนั้นคือพระองค์เอง
(credit from http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7415)
ท้าวพกามหาพรหม
ที่มาจากพรหมนิมันตนิกสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๕๕๑ หน้า ๕๙๐ บาลีฉบับสยามรัฐ (เก็บความจากหนังสือภูมวิลาสินี) เบื้องพรหมโลกชั้นมหาพรหมาพรหมภูมิ ยังมีองค์พระพรหเมศวรผู้วิเศษอยู่องค์หนึ่ง ซึ่งมีนามปรากฏว่าท่านท้าวพกามหาพรหม พรหมผู้นี้มีชีวิตอยู่ในพรหมโลกชั้นต่าง ๆ มานานนัก โดยจุติจากพรหมโลกชั้นหนึ่งแล้วก็ปฏิสนธิในพรหมโลกอีกชั้นหนึ่ง ครั้งสุดท้ายได้มาอุบัติเกิดเป็นท้าวมหาพรหมผู้ยิ่งใหญ่มีศักดิ์สถิตอยู่ ณ มหาพรหมภูมินี้และได้รับการยกย่องสรรเสริญจากมารสันดานร้าย ซึ่งมีจิตคิดหวังจะให้เป็นที่ถูกใจในคำสอพลออยู่เนืองๆว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นใหญ่ ธรรมดาว่าท้าวมหาพรหมเช่นพระองค์นี้ย่อมเป็นผู้ทรงคุณความดีประเสริฐเลิศยิ่งนัก เป็นที่เคารพสักการะแห่งปวงชนชาวโลกทั่วไป เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างสัตว์น้อยสัตว์ใหญ่ให้เกิดขึ้นในโลก ตั้งต้นแต่มนุษย์หญิงชายตลอดไปจนถึงสัตว์เดรัจฉานอื่นๆอีกเป็นอันมาก นอกจากนั้นตามความเข้าใจของชาวโลกทั้งหลายนั้น พระองค์ย่อมเป็นผู้สร้างสรรค์ภูมิประเทศ ภูเขา ต้นไม้ รวมทั้งมหาสมุทรทะเลใหญ่อีกมากมายไว้ในมนุษยโลก ท่านท้าวมหาพรหมเป็นผู้มีอานุภาพ มีตบะเดชะยิ่งนัก มีมเหศักดิ์ทรงอำนาจเหนือสิ่งทั้งปวงพระเจ้าข้า "
แม้จะทราบว่าไม่เป็นความจริง เป็นสิ่งหาสาระมิได้ มารสันดานร้ายกล่าวสรรเสริญหวังจักให้เป็นที่ชอบใจเท่านั้นเอง แต่ท้าวมหาพรหมก็มีจิตยินดีใคร่จักสดับคำสรรเสริญอานุภาพแห่งตนบทนี้อยู่เสมอ และแล้วในที่สุด ทิฐิชนิดหนึ่งก็อุบัติขึ้นกลางดวงใจ ทำให้ท่านมหาพรหมจินตนาการไปตามประสาผู้ที่มีทิฐิกิเลสว่า
"อาตมานี้ไม่แก่ไม่ตาย เป็นผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครที่ไหนทั้งปวง อาตมาเป็นผู้ล่วงพ้นจากบ่วงมัจจุราชแล้ว อนึ่งเล่า พระโคดมเจ้าในมนุษยโลกกล่าวคุณพระนิพพานว่าเป็นแดนอมตะ จะเป็นจริงไปได้อย่างไร ภพที่อาตมาอยู่นี้ต่างหากเป็นแดนอมตะ เพราะมิรู้แก่ มิรู้ตาย พระนิพพานของพระโคดมเจ้านั้นจึงเป็นสิ่งที่กล่าวกันเล่น หาสาระความจริงอันใดมิได้ "
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ภายใต้ต้นรังใหญ่ ณ ป่าสุภควันใกล้เมืองอุกกัฏฐะในขณะนั้น ทรงทราบว่าท่านท้าวพกามหาพรหมมีความเข้าใจผิดคิดว่าพระนิพพานเป็นธรรมไม่ทีจริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ดังนั้น จึงทรงลุกขึ้นจากต้นรังใหญ่อันมีใบหนาทึบแต่เพลานั้น แล้วเสด็จไปยังพรหมโลกโดยพลัน ชั่วระยะกาลมาตรว่าบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนของตนออกแล้วคู้กลับเข้ามาเท่านั้น ครั้นท้าวมหาพรหมได้ทอดทัศนาเห็นเข้า จึงกล่าวปราศรัยโดยธรรมดาว่า
" ดูกร ท่านผู้นฤทุกข์ ท่านมาที่นี่ก็ดีแล้ว จะได้ปราศรัยกัน คือข้าพเจ้ามีความเห็นอยู่อย่างหนึ่งว่า บรรดาสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนแต่เป็นของเที่ยงแท้ไม่รู้จักแก่ไม่รู้จักตาย ดูแต่พรหมสถานที่ข้าพเจ้าอยู่นี่เป็นไรพรหมสถานนี้เที่ยงแท้ ยั่งยืน มั่นคง แข็งแรง มีความไม่เคลื่อนเป็นธรรมดาพรหมสถานที่นี่แลเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ก็เหตุที่ออกไปจากทุกข์อย่างประเสริฐ นอกจากสถานที่นี้แล้วไม่มีเลย นี่แหละคือความเห็นของข้าพเจ้า ท่านจะว่าอย่างไรเล่าพระสมณะ
สมเด็จพระสมณโดดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย จึงมีพระพุทธฎีกาเตือนสติท้าวมหาพรหมขึ้นว่า " ดูกร มหาพรหม ความคิดของท่านนี้น่าอนาถนัก บัดนี้ตัวท่านเป็นมิจฉาทิฐิ เป็นผู้มีความเห็นวิปริตผิดคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว เพราะถูกอวิชชาความมืดมนเข้าห่อหุ้มดวงจิต จึงเห็นผิดจากธรรมไปเช่นนี้ "
ครั้นสมเด็จพระชินสีห์เจ้าทรงกล่าวดังนี้พญามารที่นั่งอยู่ด้วยจึงกล่าวแทรกขึ้นกลางคันว่า " ดูกร ภิกษุ ขอท่านอย่าได้กล่าวรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้เลยข้าพเจ้าขอบอกว่าท่านอย่าได้รุกรานท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นอันขาดเพราะเหตุใดฤา ก็เพราะว่าท่านท้าวพกาพรหมผู้นี้เป็นมหาพรหมเป็นใหญ่ปกครองคณะพรหม ซึ่งคณะพรหมทั้งหลายไม่อาจฝ่าฝืนอำนาจได้ ท่านเป็นผู้ดูแลทั่วไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้เป็นไปในอำนาจ เป็นอิสระเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้แต่งสัตว์ เป็นผู้ใช้อำนาจ เป็นบิดาของเหล่าสัตว์ผู้เกิดแล้วและกำลังจะเกิด
ดูกร ภิกษุ ขอท่านจงทำตามถ้อยคำที่ท่านท้าวพกามหาพรหมจะสั่งสอนท่านเท่านั้น ขอท่านจงอย่าฝ่าฝืนถ้อยคำท่านท้าวพกามหาพรหมเลย ท่านมิเห็นดอกหรือ บรรดาพรหมบริษัทที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้มากมายก็ล้วนแต่มีใจเคารพนับถือเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่านท้าวมหาพรหมผู้นี้ ความจริงเป็นเช่นที่ข้าพเจ้ากล่าวมานี้ทั้งสิ้น ท่านจงอย่าได้ดูหมิ่นรุกรานท่านท้าวมหาพรหมผู้เป็นมเหศักดิ์ จงเชื่อข้าพเจ้าเถิด "
ท้าวพกามหาพรหมได้สดับการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับพญามารจึงได้ออกปากกล่าววาทะว่า " ดูกร สมณะผู้นิรทุกข์ โลกที่ข้าพเจ้าอยู่นี้ มีแต่ความสุขความเบิกบาน หาความทุกข์ ๔ ประการ คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ และมรณะทุกข์มิได้เลย เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วพรหมสถานของข้าพเจ้านี้จักไม่เป็นสถานที่เที่ยงแท้ได้อย่างไรกันเล่า "
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกรมหาพรหม ท่านจงมนสิการฟังเราให้จงดี เราตถาคตนี้ก็รู้ว่าตัวท่านมีเดชานุภาพเป็นอันมาก แม้แต่พระอาทิตย์ พระจันทร์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองแก่กล้าก็หาได้ส่องสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุเหมือนรัศมีแห่งท่านไม่ เราตถาคตก็รู้แจ้งอีกว่าตัวท่านนี้เป็นผู้มีอัคคีไฟคือกองกิเลสคอยเผาผลาญอยู่ในสันดาน อย่างนี้แล้วจักกล่าวว่ามีความสุขสำราญได้อย่างไร เราตถาคตยังรู้อีกว่า ตัวท่านนี้หาได้รู้จักที่อยู่แห่งพรหมชั้นสูงเช่น อาภัสราพรหม สุภกิณหาพรหม เวหัปผลาพรหมก็หาไม่ แลสัตว์ทั้งหลายจักไปอุบัติเกิดในพรหมโลกชั้นนั้นๆได้อย่างไร ตัวท่านนี้ก็มิได้รู้
ท้าวพกามหาพรหมจึงกล่าวอย่างอวดอ้างศักดานุภาพขึ้นว่า " ดูกรท่านกล่าวกับข้าพเจ้านี้เป็นทำนองว่า มีท่านผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้รู้จักพรหมโลกชั้นสูง รู้จักกรรมวิบากแห่งสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้ายังมิเชื่อก่อน แต่ตัวข้าพเจ้านี้สิ เป็นผู้มีศักดานุภาพยิ่งกว่าใครๆในโลกทั้งปวงยังมิทราบเลย "
สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพุทธฎีกาขึ้นว่า " ดูกรท้าวมหาพรหม ตัวท่านมากล่าวอวดอ้างกับเราว่า ท่านเป็นผู้มีฤทธาศักดานุภาพ หาผู้ใดจะเสมอมิได้ ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เราดูเดี๋ยวนี้เถิด ท่านจงแสดงตนให้อันตรธานหายไปจงอย่าให้เราเห็นท่านได้ในกาลบัดนี้เถิด "
ท้าวพกามหาพรหมได้ยินพุทธฎีกาดังนั้นก็กระทำฤทธานุภาพกำบังตนให้หายออกไปจากที่นั้นแอบซ่อนตัวในที่ต่างๆ ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์ฤทธิ์บันดาลให้ท้าวพกามหาพรหมมิอาจซ่อนตัวจากสายพระเนตรของพระองค์ได้และยังบันดาลฤทธิ์ให้พรหมอื่นๆที่นั่งประชุมอยู่ที่นั้นได้เห็นร่างของพกาพรหมด้วย โดยพระองค์บันดาลให้พระสุรเสียงของพระองค์ดังอยู่ข้างหูของท้าวพกามหาพรหมว่า " แน่ะ ดูกร พรหมบริษัททั้งหลายขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ เม็ดทรายใต้ท้องมหาสมุทร ท้าวพกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ ณ ใต้ภูเขา " ขณะนี้ท้าวพกามหาพรหมช่อนตัวอยู่ ณ นอกขอบจักรวาล
" ไม่ว่าท้าวพกามหาพรหมจะซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ใดๆก็ไม่อาจหลุดพ้นจากสายพระเนตรของพระพุทธเจ้าได้หนักเข้าก็จนปัญญาหนีเข้าไปซ่อนตัวนั่งกอดเข่าเจ่าจุกในวิมานแห่งตน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสแก่บรรดาพรหมทั้งหลายว่า " ดูกร ขณะนี้พกามหาพรหมซ่อนตัวอยู่ในวิมานแห่งตน " ท้าวพกามหาพรหมได้ยินดังนั้นก็ยิ่งอับอายมองออกมานอกวิมานก็เห็นบรรดาพรหมทั้งหลายมีรอยยิ้มปรากฏบนใบหน้าประหนึ่งว่าจะเยาะเย้ยตน จึงข่มความอับอายก้าวออกจากปราสาทวิมานแห่งตน ตรงมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ แล้วกล่าวว่า " ดูกร พระสมณะท่าน ข้าพเจ้าพยายามที่จะทำตนให้หายไปจากสายตาของท่านแต่มิอาจกระทำได้ ท่านจงแสดงฤทธิ์ของท่านบ้างเถิด ณ กาลบัดนี้ "
สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงมีพุทธฎีกาว่า " ดูกร มหาพรหม ขอท่านจงทัศนาให้ดีบัดนี้เราจักหายไปจากท่าน " ลำดับนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จึงทรงกระทำพระฤทธิ์บันดาลอิทธาภิสังขารให้พระวรกายอันตรธานหายไป จะได้ปรากฏแก่ทิพยจักษุของท้าวมหาพรหมองค์ใดองค์หนึ่งก็หามิได้ บรรดาพรหมทั้งหมดรวมทั้งพกามหาพรหมได้ยินแต่พระสุรเสียงตรัสเทศนาอยู่ว่า " เราเห็นภัยในภพ และเห็นภพของสัตว์ผู้แสวงหาที่ปราศจากภพแล้ว ไม่กล่าวยกย่องภพอะไรเลย ทั้งไม่ยังความเพลิดเพลินให้เกิดขึ้นด้วย "
ท้าวพกามหาพรหมเพียรพยายามสอดส่องทิพยจักษุแห่งตนเพื่อค้นหาพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดทั้งสามภพจบจักรวาลก็มิสามารหาพบจึงนิ่งอยู่ แล้วเอ่ยวาจาว่า " ดูกร มหาสมณะข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามิสามารถหาท่านได้พบได้ยินแต่สุรเสียงแห่งท่าน ขณะนี้ท่านอยู่ ณ สถานที่ใด " พระพุทธเจ้าจึงมีพุทธดำรัสว่า " แน่ะ พกามหาพรหม ขณะนี้เราเดินจงกรมอยู่ที่บนเศียรของท่าน " เมื่อมีพุทธานุญาตพรหมทั้งปวงจึงมองเห็นพระวรกายของพระองค์ ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลอาราธนาให้เสด็จลงจากเศียรของตน ( บางตำรากล่าวว่าพระพุทธเจ้ายังไม่เสด็จลง ท้าวพกาพรหมจึงให้บรรเลงเพลงเชิญเสด็จ จึงเป็นที่มาของเพลงสาธุการซึ่งเป็นเพลงไทยเดิมชั้นสูงใช้บรรเลงก่อนพระสวดในงานมงคล และงานไหว้ครู นักดนตรีไทยจะต้องหัดเรียนเพลงนี้ให้ได้ก่อนจะเรียนเพลงอื่น)
เมื่อเห็นดังนั้นพระพุทธองค์จึงเสด็จลงประทับท่ามกลางหมู่พรหมเมื่อทรงจะทรมานท้าวพกามหาพรหมให้ละจากมานะทิฐิ จึงทรงมีพุทธดำรัสว่า " ดูกร มหาพรหมท่านนี้เป็นผู้มืดมนด้วยอวิชชาหาปัญญามิได้ รู้ตัวฤาไม่ว่าตัวท่านนี้มาแต่ไหนจึงได้มาบังเกิดในพรหมโลกนี้ "
ท้าวพกามหาพรหมจึงทูลตอบว่า " ข้าแต่พระสมณะ อันจุติแลปฏิสนธิของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามิได้แจ้ง พระสมณะรู้และเข้าใจก็ขออาราธนาได้วิสัชนาไป ณ กาลบัดนี้เถิด " ท้าวพกามหาพรหมยอมสารภาพแต่โดยดี
สมเด็จพระชินสีห์เจ้าจึงตรัสเล่าประวัติแห่งท้าวพกามหาพรหมท่ามกลางพรหมสันนิบาตนั้นว่า
" ครั้งหนึ่งโลกยังว่างจากพระบวรพุทธศาสนา ท้าวพกามหาพรหมผู้นี้เกิดเป็นมนุษย์คฤหบดีผู้มีทรัพย์ แต่กลับเห็นโทษแห่งฆราวาสวิสัยการครองเรือนนี้มีแต่โทษทุกข์ระกำใจ ไหนจะต้องตาย ไหนจะต้องเจ็บ ไหนจะต้องแก่ จึงตัดใจแน่วแน่ออกบวชเป็นดาบสประพฤติพรตบำเพ็ญตบะ จนได้สำเร็จ จตุตถฌาน เมื่อทำกาลกิริยาตายลงจึงไปอุบัติบังเกิดเป็นพรหมชั้นสูงใน เวหัปผลาพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยฌานแห่งตนถอยหลังลงมาอยู่ที่ห้อง ตติยฌาน จึงต้องจุติลงมาอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้น สุภกิณหาพรหม เสวยสุขอยู่จนสิ้นอายุขัยกำลังฌานถอยหลังลงมาอยู่ที่ห้อง ทุติยฌาน ฉะนั้นจึงต้องลงมาจุติบังเกิดเป็นพรหมในชั้น อาภัสราพรหม เมื่อสิ้นอายุขัยแล้วกำลังฌานถอยหลังลงมาที่ห้อง ปฐมฌาน จึงต้องมาบังเกิดเป็นพรหม อยู่ในชั้น มหาพรหม ในกาลบัดนี้ เพราะเหตุที่ตนท่องเที่ยวเวียนว่ายเสวยสุขอยู่ในพรหมโลกชั้นต่างๆเป็นเวลานานหนักหนา หนักเข้าเลยทำให้เข้าใจไปว่าพรหมสถานแห่งตนนี้เป็นอมตสถานที่เที่ยงแท้ไม่แปรเปลี่ยน "
ท้าวพกามหาพรหมเจ้าของชีวประวัติ เมื่อได้สดับพระวจนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงรำพึงอยู่ในใจว่า " พระสมณโคดมเจ้า เธอรู้นักหนา ทรงมีพระปัญญายอดยิ่งกว่าบุคคลอื่นใด ทรงรู้เหตุรู้ผล น่าอัศจรรย์ ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก " จึงเกิดความเลื่อมใส ดวงฤทัยค่อยคลายจากมิจฉาทิฐิไม่ปรากฏมีความเห็นผิดนอกรีตนอกรอยอีกต่อไป ในที่สุดได้กล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก ครั้นเห็นควรแก่กาลแล้วจึงชวนพรหมบริษัททั้งปวงอันมากมายเหล่านั้นส่งเสด็จพระพิชิตมารกลับมายังมนุษย์โลกเรานี้
สาเหตุที่ท้าวพกามหาพรหมหลงผิดว่าตนเป็นผู้สร้างโลกก็เพราะว่า เมื่อตนเองบังเกิดในชั้น มหาพรหมโลกนั้น ยังไม่มีพรหมองค์อื่นปรากฏครั้นตนอยู่คนเดียวนานหนักหนาก็อยากได้เพื่อน เมื่อคิดดังนั้นก็บังเอิญมีพรหมจุติขึ้นใหม่ เรื่อยๆ พรหมที่มาทีหลังก็เห็นว่ามีพกามหาพรหมผู้นี้อยู่ก่อนจึงเข้าใจว่าเป็นผู้สร้างผู้เนรมิตให้ตนขึ้นมาจึงนับถือว่าเป็นพรหมบิดา ท้าวพกาพรหมก็เข้าใจว่าตนเป็นผู้เนรมิตบันดาลให้พรหมอื่นๆเกิดขึ้นก็เลย หลงผิดว่าตนเป็นพรหมผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่กว่าใครๆ
เรื่องทรมานท้าวพกาพรหมนี้ปรากฏอยู่ในบทสวดพาหุง บทที่แปด ที่ขึ้นต้นว่า ทุคคาหทิฏฐิภุชเคนสุทัตทหัตถัง ฯลฯ ว่ากันว่าผู้ใดสอนยากว่ายากผู้ที่จะไปสั่งสอนให้สวดคาถานี้ จะทำให้ผู้ที่ถูกสั่งสอนคลายทิฐิเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย
(credit http://larnbuddhism.com/godgram/shadok/shadok01.2.html)
นันโทปนันทนาคราช
(pic from http://www.212cafe.com/freewebboard/user_board/wpradee/picture/00715_31.jpg)
ได้ยินว่า ในสมัยหนึ่ง อนาถบิณฑิกคฤหบดีฟังพระธรรมเทศนาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันพรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงรับภิกษาในเรือนข้าพระองค์เถิด" แล้วกลับไป
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ทรงใช้เวลากลางวันของวันนั้น อีกทั้งส่วนราตรีกาลให้ล่วงไปด้วยพุทธกิจอื่น ๆแล้ว ถึงใกล้รุ่งจึงทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ ครั้งนั้นนันโทปนันทนาคราชาสู่คลองพุทธจักษุในทางแห่งพระญาณของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคำนึกดูว่า "นาคราชผู้นี้มาสู่คลองในทางแห่งญาณของเรา อุปนิสัยของเขามีอยู่หรือนาค" ก็ทรงเห็นว่า "นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฐิไม่เสื่อมใสในพระไตรรัตน์" จึงทรงรำพึงต่อไปว่า "ใครเล่าหนอ จะพึงเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฐิได้" ก็ได้ทรงเห็นพระมหาโมคคัลลานเถระ (ว่าจะสามารถทำอย่างนั้นได้) ต่อนั้น ครั้นราตรีรุ่งสว่างทรงชำระพระกายแล้ว จึงตรัสเรียกท่านอานนท์ว่า "อานนท์ เธอจงบอกแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปว่า ตถาคตจะไปจาริกในเทวโลก"
พอดีวันนั้น พวกนาคราชได้จัดแต่งที่กินเลี้ยงสำหรับนันโทปนันทนาคราช นาคราชนั้นมีเศวตรฉัตรทิพกั้น มีเหล่าระบำ ๓ พวก และนาคบริษัทแวดล้อม นั่งชมข้าวน้ำต่างอย่างที่เขาจัดลงในภาชนะทิพย์ทั้งหลาย อยู่บนรัตนบัลลังก์ทิพย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอย่างที่นาคราชมองเห็น เสด็จมุ่งไปดาวดึงสเทวโลกพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ผ่านไปทางเบื้องบนเพดานของนาคราชนั้นทีเดียวก็แลสมัยนั้น ความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่นันโทปนันทนาคราชว่า "ชิชะ พวกสมณะหัวโล้นนี่ เข้า ๆ ออก ๆ ภพดาวดึงส์ของพวกเทวดา โดยทำอำนาจเหนือพวกเราทุกทีไป ทีนี้ข้า ฯ จะต้องไม่ให้สมณะพวกนี้โปรยละอองตีนลงบนหัวพวกเราได้อีกต่อไปละ" ว่าแล้วก็ลุกจากบัลลังก์ไปยังเชิงเขาสิเนรุ ละอัตภาพนั้นเสีย นิรมิตเป็นนาคใหญ่พิลึกพันโอบเขาสิเนรุด้วยขนด ๗ รอบ ทำดังพานขึ้นเบื้องบนเขาสิเนรุ แล้วกุมเอาภพดาวดึงส์ไว้ด้วยพังพานอันคว่ำลง ถึงกับมองไม่เห็นภพดาวดึงส์
ครั้งนั้น ท่านรัฐบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนข้าพระองค์ยืน ณ ที่ตรงนี้ ย่อมมองเห็นเขาสิเนรุ เห็นบริภัณฑ์เขาที่ล้อมรอบ เขาสิเนรุ เห็นภพดาวดึงส์ เห็นปราสาทไพชยนต์ เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย บัดเดี๋ยวนี้ข้าพระองค์มองไม่เห็นเขาสิเนรุ ฯลฯ ไม่เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า "ดูกรรัฐบาล นี่คือนาคราชชื่อนันโทปนันทะ ขัดเคืองท่านทั้งหลาย พันโอบเขาสิเนรุด้วยขนดถึง ๗ รอบแล้วบังข้างบนเสียด้วยพังพาน (จึง) ทำให้มืดอยู่" ท่านรัฐบาลกราบทูลอาสาว่าจะทรมานนาคราชนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต ลำดับนั้นภิกษุทั้งปวงเช่นท่านภัททิยะ ท่านราหุลเป็นต้นลุกขึ้น (ทูลอาสา) โดยลำดับพระผู้มีพระภาคเจ้าก็หาทรงอนุญาตไม่ ในที่สุด พระมหาโมคคัลลานเถระกราบทูลอาสาว่า "ข้าพระองค์ขอทรมานเอง" พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า "ทรมานเถิด โมคคัลลานะ"
พระเถระก็ละอัตภาพ (เดิม) เสียแล้วนิมิตเป็นเพศนาคราชใหญ่ (ยิ่งกว่านันโทปนันทนาคราช) พันโอบ (ตัว) นันโทปนันทะไว้ด้วยขนดถึง ๑๔ รอบ ตั้งพังพานของตนไว้เหนือพังพานนันโทปนันทะนั้นแล้วบีบ (รัด) เข้ากับเขาสิเนรุ นาคราชบังหวนควันขึ้น (รมพระเถระ) ฝ่ายพระเถระจึงว่า "มิใช่ควันจะมีอยู่แต่ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว ของข้า ฯ ก็มีเหมือนกัน" แล้วบังหวนควันขึ้น (บ้าง) ควันของนาคราชไม่เบียดเบียนพระเถระ แต่ควันของพระเถระเบียดเบียนนาคราช
ลำดับนั้นนาคราชบันดลไฟขึ้นลนพระเถระ ฝ่ายพระเถระจึงว่า "มิใช่ไฟจะมีอยู่แต่ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว ของข้า ฯ ก็มีเหมือนกัน " แล้วบันดลไฟขึ้น (บ้าง) ไฟของนาคราชไม่ทำพระเถระให้ลำบาก แต่ไฟของเถระทำนาคราชให้ลำบาก นาคราชคิดว่า "คนผู้นี้บีบรัดเราเข้ากันเขาสิเนรุไว้แล้ว ทั้งบังหวนควัน ทั้งบันดลไฟเอาทำเราให้ลำบาก" (จำเราจะแสร้งพูดจาด้วยโดยดีให้ตายใจ) จึงแสร้งถามขึ้นว่า "พ่อคุณ ท่านเป็นใคร" พระเถระบอกว่า "เราคือโมคคัลลานะ อย่างไรละ นันทะ"
นาคราชลวงว่า "พระคุณท่านเจ้าข้า ขอพระคุณท่านโปรดดำรงความเป็นภิกษุตามเดิมเถิด "
พระเถระก็ละอัตภาพนาคนั้นเสีย แล้วนิรมิตเป็นอัตภาพอันละเอียดเข้าทางช่องหูขวาของนาคราชนั้น แล้วออกทางช่องหูซ้าย เข้าทางช่องหูซ้ายออกทางช่องหูขวา โดยนัยเดียวกันนั้นเข้าทางช่องจมูกขวาออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้ายออกทางช่องจมูกขวา พอนาคราชอ้าปากขึ้น พระเถระก็เข้าทางปากเดินจงกรมไปทางตะวันออก และทางตะวันตก*อยู่ภายในท้องของนาคราช
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนา "โมคคัลลานะ จงใส่ใจไว้นะว่านาคนั่นมีฤทธิ์มาก"
พระเถระ (อยู่ในท้องนาค) กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์ได้เจริญทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมแล้ว ทำให้เป็นดุจของใช้ที่จัดเตรียมไว้ เฝ้าตั้งไว้มิให้เสื่อม ช่ำชองทำได้ทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่าว่าแต่นันโทปนันทะ (ผู้เดียวเลย) ข้าพระองค์จะพึงทรมานนาคราชเช่นนันโทปนันทะนี้ตั้งร้อยตั้งพันตั้งแสนก็ได้"
ฝ่ายนาคราชคิดแค้นว่า "เมื่อเข้าไป ข้า ฯ ไม่ (ทัน) เห็นก็ช่างก่อนเถิด เวลาออกมาทีนี้ละ ข้า ฯ จะต้องยัดแกเข้าซอกเขี้ยวขบเสียจงได้ " จึงแสร้งพูดอ้อนวอนว่า "นิมนต์ออกมาเถิด เจ้าข้า โปรดอย่าเดินไปมาอยู่ในท้องทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย" พระเถระก็ออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชพอเห็นว่านี้คือท่าน ก็ปล่อยลมนาสวาต (คือพ่นลมออกทางจมูกอย่างแรง สามารถพัดเอาข้าศึกไปได้ ?) พระเถระเข้าจตุตถฌานทันที ลมนั้นไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนของท่านให้ไหว นัยว่า ภิกษุนอกนั้นพึงอาจทำปาฏิหาริย์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นมาได้แต่ถึงฐานะ (คือกรณีปล่อยลมนาสวาต) นี้เข้า จักไม่อาจเข้าสมาบัติเป็นขิปปนิสันติ (เข้าได้ฉับพลัน) อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตการทรมานนาคราชแก่ภิกษุเหล่านั้น
นาคราชคิดท้อใจว่า "เราไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนขอสมณะผู้นี้ให้ไหวได้ด้วยลมนาสวาต สมณะนี้นี่มีฤทธิ์มากนะ" เมื่อเห็นว่าสู่ไม่ได้ก็กลัวหนีไป พระเถระจึงละอัตภาพนั้น แปลงเป็นรูปครุฑ แสดงสุบรรณวาต (ลมปีกครุฑ คือกระพือปีกทำให้เกิดลมอย่างแรงขึ้น) ติดตามนาคราช นาคราชเห็นว่าจะหนีไม้พ้น จึงละอัตภาพนั้นเสียแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพ กล่าวขึ้นว่า "พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึง" พลางกราบเท้าพระเถระ พระเถระเห็นนาคหมดพยศจึงว่า "นันทะ พระศาสดาก็เสด็จมาด้วย มาเราจักไปเฝ้ากัน”
พระมหาโมคคัลลานะทรมานนาคราชทำให้หมดพิษแล้ว ก็พาไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นาคราชบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ของถึงพระองค์เป็นที่พึ่ง" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ประทานพร) ว่า "สุขี โหหิ นาคราช = จงเป็นสุขเถิด นาคราช" แล้วมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จไปสู่นิเวสน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดีอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลถามว่า "ไฉนจึงได้เสด็จมาถึงจนสาย พระเจ้าข้า" ตรัส (เล่า) ว่า "โมคคัลลานะกับนันโทปนันทนาราชเกิดสงครามกันขึ้น" กราบทูลถามว่า "ใครชนะ ใครแพ้ พระเจ้าข้า "
ตรัสบอกว่า "โมคคัลลานะชนะ นันโทปนันทะแพ้"
อนาถบิณฑิกะจึงกราบทูลว่า "พระเข้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ (เสวย) ภัตตาหารของข้าพระองค์ โดยลำดับเดียว (คือไม่เว้น) ตลอด ๗ วันเถิด ข้าพระองค์จักทำสักการะแด่พระเถระสัก ๗ วัน" แล้วได้ทำมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจนครบ ๗ วัน
(credit from http://larnbuddhism.com/godgram/shadok/shadok02.html)
พระเจ้าสุปปะพุทธะ
พระเจ้าสุปปะพุทธะ ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธราพิมพา พระชายาของเจ้าชายสิทธัตถะนั่นเอง เมื่อรู้ว่าพระเทวทัตถูกธรณีสูบเพราะจองล้างจองผลาญพระพุทธองค์ แทนที่สุปปะพุทธะจะสำนึกในบาปบุญคุณโทษ กลับมีจิตโกรธแค้นอาฆาต ทั้งยังโกรธแค้นเจ้าชายสิทธัตถะที่ทอดทิ้งธิดาของตนออกผนวช จึงนำอำมาตย์ข้าราชบริพารไปนั่งดื่มสุรา ขวางทางที่พระพุทธองค์จะออกโปรดเวไนยสัตว์ ทำให้พระพุทธองค์เสด็จดำเนินไม่ได้เพราะมีทางออกอยู่ทางเดียว ถึงกับต้องอดพระกระยาหารไป 1 วัน
เมื่อพระอานนท์ทูลถามถึงความผิดของสุปปะพุทธะที่กระทำเช่นนั้น พระพุทธองค์ซึ่งทราบด้วยญาณ จึงตรัสว่า
“ดูก่อนอานนท์ หลังจากนี้ไปได้เจ็ดวัน สุปปะพุทธะจะลงอเวจีตามเทวทัตไป”
เมื่อสุปปะพุทธะทราบถึงพุทธดำรัส จึงขึ้นไปประทับบนชั้น 7 ของปราสาท ทั้งยังให้นายทวารคอยขัดขวางไว้ไม่ให้พระองค์ออกจากปราสาทใน 7 วัน
สุปปะพุทธะประทับอยู่ในปราสาทชั้น 7 จนถึงวันที่ 7 ก็ได้ยินเสียงม้าแก้ว ซึ่งเป็นม้าที่ทรงโปรดร้องก้อง ด้วยความเป็นห่วงม้า สุปปะพุทธะจึงวิ่งลงมา เหล่านายทวารก็คิดว่าครบ 7 วันตามกำหนดแล้ว จึงไม่มีผู้ใดขัดขวางไว้
พอสุปปะพุทธะก้าวพ้นปราสาท เหยียบพระบาทลงบนพื้น ธรณีก็เปิดออก สูบสุปปะพุทธะลงสู่ขุมนรกอเวจีตามพุทธดำรัสที่ทรงรู้ด้วยญาณ
(credit from http://www.amulet.in.th/forums/view_topic.php?t=415&sid=abc7e4023fedb1023091c2387e10bd7f)
นันทยักษ์
(pic from forums.212cafe.com/samatha/board...1-1.html)
ยักษ์ มีนามว่า นันทยักษ์ ซึ่งมีฤทธิ์เดชมาก วันหนึ่ง นันทยักษ์ได้เหาะเหินเดินอากาศมากับเหมตายักษ์ ผู้เป็นสหาย ครั้นผ่านมาถึงที่พระสารีบุตร สาวกของพระพุทธองค์กำลังเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ทำให้อากาศธาตุในบริเวณนั้นว่างเปล่า ยักษ์สองสหายไม่สามารถเหาะผ่านไปได้ นันทยักษ์ผู้มีนิสัยพาล ชาติก่อนก็อาฆาตผูกพยาบาทพระเถระไว้ จึงทำปาณาติบาต ต่อพระสารีบุตรด้วยสันดานพาล เหมตายักษ์ ได้ทัดทาน แต่นันทยักษ์ก็ไม่ฟัง เหาะขึ้นกลางอากาศแล้วใช้กระบองซึ่งเป็นอาวุธประจำตน ฟาดลงมาหมายเศียรของพระสารีบุตร ความแรงของอิทธิฤทธิ์นันทยักษ์ทำให้ภูเขาระเนระนาดไปถึง 100 ลูก แต่พระสารีบุตรซึ่งอยู่ในสมาธิหาเป็นอันตรายอย่างใดไม่ ยิ่งทำให้นันทยักษ์เกิดเร่าร้อนในอารมณ์ ตะโกนก้องไปทั่วทิศว่า
“เราร้อน....เราร้อน”
ทันใดก็ตกลงมาจากอากาศ พลันแผ่นดินก็เปิด สูบเอานันทยักษ์ลงขุมนรกอเวจีไปอีกราย
พระแม่น้ามหาปชาบดีโคตมี
นำนางกษัตริย์บริวารไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี
ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะสิ้นพระชนม์แล้วไม่นาน พระนางปชาบดีโคตมี พระน้านางของพระพุทธเจ้า หรือนัยหนึ่งพระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะ พร้อมด้วยนางกษัตริย์ผู้บริวาร ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นยังเสด็จประทับอยู่ที่นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อทูลขอบวช
พระนางทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ธรรมดาสตรีจะบวชในพระพุทธศาสนาได้ (อย่างบุรุษ) หรือไม่ พระพุทธเจ้าทรงตอบบ่ายเบี่ยงว่า อย่าได้มายินดีในการบวชเลย ทรงตอบอย่างนี้ถึงสามครั้ง
หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงไพศาลี พระนางปชาบดีโคตมีพร้อมด้วยบริวารได้ตามเสด็จไปอีก คราวนี้ทุกนางต่างปลงผม นุ่งห่มผ้าย้อมฝาดอย่างนักบวช เข้าไปทูลขอบวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธอีก
พระนางจึงเข้าไปขอพึ่งพระบารมีพระอานนท์ เพื่อให้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงอนุญาต พระอานนท์จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขอร้องพระพุทธเจ้าให้ทรงอนุญาตให้พระนางปชาบดีโคตมีและบริวารได้บวชเป็นนางภิกษุณี
พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธอยู่ถึงสามครั้ง ในที่สุดจึงทรงอนุญาตอย่างมีเงื่อนไขว่า ถ้าพระนาง ปชาบดีโคตมียอมรับ ครุธรรม ๘ ข้อได้ ก็จะให้บวชเป็นนางภิกษุณีได้ ครุธรรม คือ หลักการเบื้องต้นสำหรับสตรีที่จะบวชเป็นนางภิกษุณี เช่นว่า สตรีบวชเป็นนางภิกษุณีแล้ว แม้จะมีพรรษาตั้งหนึ่งร้อย ก็จะต้องกราบไหว้พระภิกษุซึ่งบวชใหม่ในวันนั้น จะต้องรักษาศีล ๖ ข้อไม่ให้ขาดอยู่จนครบสองปีก่อน จึงจะบวชได้ เป็นต้น
พระนางปชาบดีโคตมีมีศรัทธาแรงกล้ามาก จึงยอมรับและได้บวชเป็นนางภิกษุณีเป็นคนแรกในศาสนาพุทธ แต่คณะสงฆ์ภิกษุณีก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าสูญสิ้นไปก่อนพระพุทธเจ้านิพพานด้วยซ้ำไป เหตุผลก็เพราะบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เป็นดุจกำแพงล้อมนางภิกษุณีนั้น เข้มงวดกว่าฝ่ายพระภิกษุหลายเท่า จนคนไม่มีศรัทธาจริงๆ จะบวชอยู่ไม่ได้เลย
พระนางอุบลวรรณาเถรี
พระนางเกิดในวรรณะไวศยะ ตระกูลเศรษฐี เมืองสาวัตถี นางมีรูปร่างสวยงาม ผิวพรรณผุดผ่องนวลเนียนเหมือนดอกบัวสย ประเภท
ดอกเขียว คือ ปาก แก้ว ปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า อุ้งมือ อุ้งเท้า เป็นสีชมพู ส่วนหน้าตา หลังมือ หลังเท้า เนื้อตัวตลอดลำแขน มีสีขาวอมเขียว เหมือน
ดอกบัวสัตตบงกช ที่กำลังจะแยกแย้ม ฉะนั้น นางจังได้นามว่า "อุบลวรรณา" แปลว่า "นางผู้มีสีผิวเหมือนดอกบัว" นางเป็นที่รักใคร่หมายปอง
ของบรรดาเหล่าสุขุมาลชาติและบรรดาเหล่ากุลบุตรเศรษฐีทั้งหลายเป็นอันมาก
ข่าวความงามทรามวัยวิไลนัก
กามเทพผลักศรแผลงทุกแห่งหน
บรรดาหนุ่มใกล้-ไกลได้ยินยล
รักอุบลวรรณายอดนารี
แต่งของหมั้นขันหมากมาสู่ขอ
ปลูกเรือนหอรอรักลูกเศรษฐี
ขอเป็นทองแผ่นเดียวเกี่ยวไมตรี
คนนั้นหรือคนนี้จะเลือกใคร
จึงเป็นที่ลำบากใจแก่ท่านเศรษฐีบิดาของอุบลวรรณาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่รู้จะตัดสินใจยกลูกสาวให้แก่หนุ่มคนไหน ถ้าจะยกให้
แก่เจ้าชายองค์ใดองค์หนึ่งแล้ว เจ้าชายองค์อื่นหรือกุลบุตรเศรษฐีคนอื่นๆ ก็จะมีความโกรธและแค้นเคือง ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทและอาจ
ลุกลามไปถึงการเกิด "ศึกชิงนาง" ขึ้นมาได้
ระหว่างนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาอุบัติขึ้นแล้วในโลก เวลาผ่านไป ๕ พรรษา หลังการตรัสรู้ ได้มีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นในศาสนา
ของพระองค์ เศรษฐีบิดาคิดหาทางออกได้ จึงแนะนำให้ลูกสาวออกบวชในพระพุทธศาสนา บรรดาชายหนุ่มทั้งวรรณะกษัตริย์ทั้งวรรณะไวศยะ
จะได้เลิกติดพันหมายปองตัวอุบลวรรณาเสียที
คำแนะนำของบิดา ที่แนะให้นางออกบวชในพระพุทธศาสนา ทำให้นางดีใจมาก จึงเดินทางไปสู่สำนักภิกษุณี และขอบวชภายใน
วันนั้นเอง เมื่อบวชแล้วท่านจะต้องปฏิบัติกิจวัตรเช่นเดียวกับภิกษุณีรูปอื่นๆ คือบิณฑบาต กวาดลานวัด เจริญธรรมกรรมฐานตามสมควร
แก่ธรรมและอิริยาบถ ยืน เดิน นั่น นอน เป็นต้นแล้ว ยังจะต้องมีกิจที่จะปฏิบัติในโรงอุโบสถทุกกึ่งเดือน คือ ปัดกวาดโรงอุโบสก ปูลาดอาสนาะ
ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ จุดประทีปโคมไฟให้สว่างไสว
เนื่องจากทุก ๑๕ ค่ำ กลางเดือนและสิ้นเดือนภิกษุณีสงฆ์จะต้องมาประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ เพื่อฟังภิกษุณีปาติโมกข์ คือ สิกขาบทที่ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ สำหรับพระภิกษุรีถือปฏิบัติ มี ๓๑๑ ข้อ จะต้องนำมาสวดในโรงอุโบสถทุกกึ่งเดือน วันที่พระอุบลวรรณาจะบรรลุอรหัตผลนั้น เป็นวันที่ท่านต้องเข้าเวรดูแลโรงอุโบสถ หลังจากที่ท่านจุดประทีปโคมไฟแล้ว ท่านได้เพ่งมองเปลวไฟที่สว่างไสว เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริงของสรรพสิ่ง บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ขณะเพ่งเปลงไฟนั้นเอง
พระอุบลวรรณาเถรี มีความสามารถในด้านการแสดงฤทธิ์ พระบรมศาสดาทรงแต่งตั้งท่านไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะในด้านมีฤทธิ์
มีข้อความปรากฏในภัมภีร์ "ยมกัปปาฏิหาริยวัตถุว่า :-
ในวันที่พระบรมศาสดาประกาศว่า จะแสดงยมกปาฏิหาริย์ปราบพวกเดียวถีย์ที่เมืองสาวัตถีในราวพรรษาที่ ๖ นั้น
พระอุบลวรรณเถรีก็เป็นผู้หนึ่งบรรดาสาวก สาวิกาผู้ทรงฤทธิ์ทั้งหลายที่ทูลขันอาสาแสดงฤทธิ์แทนพระบรมศาสดา โดยท่าน
จะแสดงฤทธิ์แปลงตัวเองเป็นจักรพรรดิราช มีข้าราชบริพารห้อมล้อมกว้างไกลถึง ๓๖ โยชน์ แล้วจะเข้าถวายบังคมพระบรมศาสดา
พระองค์ทรงปฏิเสธบรรดาสาวก-สาวิกาผู้ทรงฤทธิ์เหล่านั้น รวมทั้งปฏิเสธพระอุบลวรรณาเถรีด้วย ตรัสว่า
"ตถาคตรู้ว่าเธอทำได้ แต่พวงดอกไม้นี้มิได้ผูกไว้เพื่อเธอ" ท่านจึงถอยกลับไปนั่ง ณ ที่สมควร
ทั้งที่ท่านเก่งกล้าสามารถ มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เกินชีดความสามารถของบรรดามนุษย์ทั้งหลายจะทำได้ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ใจผู้อื่น ระลึกชาติได้ และหมดกิเลส ถึงกระนั้นท่านยังถูกผู้ชายใจบาปหยาบช้าปลุกปล้ำทำร้าย
มีเรื่องปรากฏในธรรม อปทาน ข้อที่ ๓ หน้าที่ ๑๔๑ ว่า:-
หลังจากที่ท่านบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านเดินทางไปเผยแผ่พระศาสนาในเขตชนบทและพานักในกระท่อมกลางป่าชื่อ "อันธวัน"
ชายป่าวัดเขตวัน เมืองสาวัตถี ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อนันทะ เป็นลูกของลุง จึงถือว่าเป็นลูกพี่ลูกน้อง ของท่านและก็เป็นคนหนึ่งที่หมายปองท่าน เมื่อครั้งท่านยังดำรงเพศคฤหัสถ์อยู่ ถึงแม้ท่านบวชแล้ว หนุ่มนันทะ ก็ยังมีจิตผูกพันรักใคร่ไม่เสื่อมคลาย เขามีความปรารถนาที่จะมีเพศสัมพันธุ์กับพระอุบลวรรณาเถรี จึงแวะเวียนเข้าไปที่กระท่อมในป่า อันธวันอยู่เนื่องๆ
วันหนึ่งขณะที่พระอุบลวรรณาเถรีออกบิณฑบาต ในเวลารุ่งอรุณหนุ่มนันทะก็แฝงตัวหลบซ่อนในกระท่อม รอเวลาจนกระทั่ง
ท่านกลับมาจากบิณฑบาต จึงใช้กำลังปลุกปล้ำทำลายข่มขืนจนสำเร็จความใคร่
เพราะไม่ซึ้ง ความชั่วร้ายจะให้ผล
สัปดนชั่วระยำทำบัดสี
แม้กระทั่งผู้ทรงศีลบ่มอินทรีย์
ยังขยี้พรหมจรรย์สบั้นลง
แม้ท่านมีฤทธิ์ถือผู้ชายใจอำมหิตขืนใจ ท่านก็ไม่ยอมใช้อำนาจฤทธิ์ ประหารนันทะให้สาสมกับความโฉดชั่วที่เขากระทำลงไป เพราะท่านเป็นพระอรหันต์หมดจดจากกิเลส ไม่มีความยินดียินร้ายต่อการกระทำชั่วหยาบนั้นๆ จึงไม่ใช้กำลังตอบสนองให้เกิดกรรมสร้างเวรขึ้นมาอีก
ความนิ่งเฉยของท่านทำให้นันทะ ร่าเริงบันเทิงใจเดินยิ้มออกจากกระท่อม ด้วยความสบายอารมณ์พอเขาก้าวพ้นออกจากประตูกระท่อม แผ่นดินก็ไหวสะท้านสเทือนแล้วก็แยกสูบเอานันทะ ลงไปเกิดในอเวจีมหานรกทันที
ข่าวที่พระอุบลวรรณาเถรี ถือประทุษร้าย ความทราบถึงพระบรมศาสดา จึงทรงมีพระพุทธบัญญัติ "ห้ามพระภิกษุณีพำนักอยู่ในป่าตามลำพัง ต้องพักในวัดที่มีพระสงฆ์อยู่ด้วย แต่แยกเขตที่อยู่ให้เป็นสัดส่วน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและเพื่อป้องกันพระภิกษุณีถูกประทุษร้ายจากมนุษย์และสัตว์ที่เป็นอันธพาล
ในกัปที่เก้าแห่งภัทรกัปนี้ อดีตชาติพระอุบลวรรณาเถรี ต่อมาพระพุทธเจ้าที่มีพระนามว่า " วิปัสสี " มีพระเนตรงาม มีพระญาณจักษุในธรรมทรงอุบัติขึ้นในโลกนางอุบลวรรณาได้บังเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีในเมืองพาราณสี ได้นิมนต์พระพุทธเจ้าองค์นั้นพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกมายังเรือนตน เพื่อถวายมหาทานและบูชาด้วยดอกอุบลเป็นจำนวนมาก พร้อมกับตั้งความปรารถนาว่าขอให้ผิวกายงามเหมือนดอกอุบลอีกครั้งหนึ่ง
ในภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าพระนามว่า " กัสสปะ " ทรงบังเกิดขึ้นในโลกคราวนั้นพระเจ้ากาสีมีพระนามว่า " กิกี " ในเมืองพาราณสี ทรงเป็นองค์อุปัฏฐากของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น นางอุบลวรรณาเป็นพระราชธิดาองค์ที่ ๒ ของท้าวเธอมีพระนามว่า " สมณคุตตา " ได้ฟังธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า บังเกิดความเลื่อมใสพอใจที่จะออกบรรพชา แต่พระชนกนาถไม่ทรงอนุญาต นางอุบลวรรณาพร้อมกับพี่ ๆ น้อง ๆ รวม ๗ คน จึงต้องอยู่ในฆราวาสวิสัยในราชสถาน ร่วมกันประพฤติพรหมจรรย์ตั้งแต่คราวนั้นมาเป็นเวลา ๒๐,๐๐๐ ปี พระราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์ของพระเจ้ากิกี ได้แก่นางสมณี ๑ .นางสมณคุตตา ๑. นางภิกษุณี ๑. นางภิกขุ นาสิกา ๑. นางธรรมา ๑. นางสุธรรมา ๑. และนางสังขทาสี รวมเป็น ๗ พระองค์ เป็นผู้มีศรัทราเลื่อมใสยินดีบำรุงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจากนั้นได้มาบังเกิดเป็นธิดาของพระองค์ในภัทรกัปนื้ คือ พระเจ้าพี่สมณี ซึ่งเป็นพระธิดาองค์ใหญ่ ได้มาบังเกิดเป็นพระนางเขมาเถรี นางสมณคุตตาองค์ที่ ๒ มาบังเกิดเป็นพระอุบลวรรณาเถรี องค์ที่ ๓ มาบังเกิดเป็นพระปฏาจาราเถรี องค์ที่ ๔ เป็นพระกุณฑลเภสีเถรี องค์ที่ ๕ เป็นพระกีลา โดยมี องค์ที่ ๖เป็นพระธรรมทินนาเถรี และองค์ที่ ๗ เป็นวิสาขาอุบาสิกาทั้งนี้ต่างสำเร็จด้วยบุญกรรมที่ทำไว้ ดีแล้วด้วยการตั้งความปรารถนาไว้
ครั้งนั้นนางอุบลวรรณาและร่างมนุษย์แล้ว ไปเสวยความสุขในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ต่อมาจุติลงมาเกิดเป็นธิดาของสกุลใหญ่สกุลหนึ่ง ได้ถวายผ้าอย่างดีสีเหลืองเนื้อเกลี้ยงผืนหนึ่งแด่พระอรหันต์องค์หนึ่ง จากนั้นจึงไปเกิดใน สกุลพราหมณ์ที่เมืองอริฏฐะเป็นธิดาของพราหมาณ์ดิริฏิวัจรฉะมีนามว่า "อุมมาทันตี " มีรูปงามมาก ทำให้บุรุษที่พบเห็นบังเกิดความรักใคร่หลงใหลได้ ต่อมาได้ไปเกิดในสกุลชาวนา มีความตั้งใจทำนาข้าวสาลี
วันหนึ่งข้าวสาลีออกรวงแล้วจึงเฝ้าข้าวสาลีในนาเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งผ่านมาบังเกิดความเลื่อมใสได้ถวายข้าวดอก ๕๐๐ ดอก กับดอกปทุม(ดอกบัว) พร้อมกับตั้งความปรารถนาว่าให้ลูก ๕๐๐ คน เมื่อได้ลูกสมปรารถนาแล้ว จึงถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นอีก เมื่อเคลื่อนจากภพนั้นแล้ว ไปเกิดใหม่ในป่ามีสระบังงาม พระเจ้ากาสีเสด็จมาพบ ทรงรับเอาไปเป็นพระเมหสีที่โปรดปรานมาก มีราชโอรสครบ ๕๐๐ องค์ ต่อมาพระราชบุตรเหล่านั้นทรงเจริญวัย วันหนึ่งเสด็จไปทรงเล่นน้ำเห็นดอกบัวต่างพอพระทัย ทรงหักเอาองค์ละ ๑ ดอก ดอกบัวในสระก็หมด พระมเหสี ( นางอุบลวรรณา ) ไม่มีดอกบัว เพราะพระราชบุตรทรงหักเอาเสียหมดแล้วทำให้พระนาง ฯ มีความเศร้าโศก ต่อมาได้เคลื่อนจากอัตภพนั้น ไปเกิดในหมู่บ้านข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่พำนักของเหล่าปัจเจกพุทธเจ้าครั้นพวกบุตรของนางอุบลวรรณาได้สดับธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้าก็บังเกิดความเลื่อมใสซาบซึ่งในรสพระธรรมนั้น บังเกิดความศรัทธาจึงนำข้าวยาคูไปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า โดยเฉพาะบุตร ๘ คน มีศรัทธากล้าในเนกขัมมธรรม พากันออกบวชเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า วันหนึ่งพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุตรของนางอุบลวรรณาทั้ง ๘ องค์เข้าไปบิณฑบาตที่บ้าน ขณะนั้นนางอุบลวรรณาพบเห็นแล้ว พลันระลึกชาติหนหลังได้ บังเกิดความปิติด้วยความรักลูกสุดสุดขีดน้ำนมได้หลั่งไหลออกจากเต้านมทั้ง ๒ ข้าง นางอุบลวรรณามีความเลื่อมใสถวายข้าวยาคูแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๘ องค์ นั้นด้วยมือของนางเอง
ครั้นนางอุบลวรรณาได้จุติจากภพนั้นไปบังเกิด ในนันทวันแห่งดาวดึงส์พิภพในเทวโลก นางอุบลวรรณษได้ท่องเที่ยวอยู่ในภพน้อยภพใหญ่ประสบความสุขบ้างความทุกข์บ้าง และได้อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์แก่สมณพราหมณ์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คราวหนึ่งขณะที่พระอุบลวรรณาพำนักอยู่ในป่ามาร ได้กล่าวกับนางว่า " ท่านเข้ามาอยู่ในพุ่มไม้ซึ่งมี ดอกตูมบานอยู่สะพรั่ง ยืนอยู่ที่โคนไม้รังใหญ่ คนเดียวโดยไม่มีเพื่อน ช่างสิ้นดี ไม่กลัวพวกนักเลงดอกหรือ พระอุบลวรรณาตอบว่า "นักเลงอย่างท่านต่อให้มากันแสนคน ก็ไม่ทำให้ขนฉันลุกเลย มารเอ๋ยท่านผู้จะทำอะไรฉันได้ ฉันจะหายร่างไปเดี่ยวนี้ก็ทำได้ ฉันจะหายร่วงไปในท้องก็ยังได้ ฉันมีความชำนาญทางจิต สำเร็จอิทธิบาทแล้วพ้นจากกิเลสเครื่องผูกมัดทั้งหลายแล้วมารเอ๋ย ฉันไม่หวั่นเกรงอะไรท่านเลย เพราะอะไรเพราะกามทั้งหลายที่ร้ายกาจเปรียบด้วยหอกและหลาวก็ดี ขันธ์ทั้งทั้งหลายที่สร้างความเร่าร้อนเปรียบด้วยกองไฟก็ดี ไม่สามารถผูกพันใจเราได้แล้ว เราสิ้นความยินดีในกามทั้งหลายแล้ว เวลานี้เราไม่มีความยินดีในกาม ไม่ มีความเพลิดเพลิน เวลา นี้เราไม่มีความยินดีในกาม ไม่มีความเพลิดเพลินในกามารณ์แต่ประการใดเราขจังความยินดีแล้ว แม้กองแห่งความมืดเราได้ลายแล้วดูก่อนมาร ท่านจะรู้เถอะ ท่านจงหลบหลีกไปจากที่นี่เสียเถิด
พระทุบอุบลวรรณาเถรีได้กล่าวแก่ที่ประชุมว่า พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัยในคุณสมบัตินั้น จึงทรงตั้ง นางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในหมู่พุทธบริษัทว่า " อุบลวรรณา " " อุบลวรรณาภิกษุณี เป็นผู้เลิศกว่าบรรดาภิกษุณีที่มีฤทธิ์ " คราวหนึ่งพระอุบลวรรณาเถรี มีความสุขอยู่ด้วยณานและสมบัติ วันหนึ่งท่านพิจารณาเห็นโทษของกามทั้งหลายที่โลกียชนพากันวุ่นวายเดือดร้อนในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นเครื่องทำให้ตกต่ำเศร้าหมอง เป็นที่น่าสลด ใจยิ่งท่านระลึกถึงชาติหนหลังของท่านที่ได้ประพฤติตัวเลวทราม เพราะกามเป็นเหตุท่านได้เล่าชีวิตของท่านในชาติก่อนแก่เพื่อนภิกษุณีทั้งหลาย ( ปรากฏอยู่ในอรรถกลาแห่งเถรีคาถา ) ดังนี้ กาม ทำความเสื่อมเสียให้แก่มนุษย์อย่างน่าสลดใจน่าขยะแขยง เพราะกามไม่มีชาติ ไม่มีสกุล เป็นเรื่องเลวทราม
เมื่อครั้งที่นางอุบลวรรณายังท่องเที่ยวอยู่ในกามยังบริโภคกามอยู่ นางได้บุตรชายเป็นสามี และเกิดไปมีสามีคนเดียวกันกับลูกสาว ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็เป็นไปแล้ว ก็เพราะกามนั้นแหละ การที่พระอุบลวรรณาเถรี สามมารถระลึกชาติก่อน ๆ ได้ ทิพยจักษุ เจโตปริยญาณ และ ทิพโสตธาตุชำระ ให้หมดจด กระทั่งฤทธิ์ก็ทำได้สำเร็จแล้ว ความสิ้น อาสวะก็ได้บรรลุแล้ว รวมทั้งได้อภิญญา ๖ ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นพระอุบลวรรณาเถรีก็ได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ พระอุบลวรรณาเถรีได้เนรมิตรถเทียมด้วยม้า ๔ ตัว นั่งเข้าไปถวายบังคมพระยุคลบาท ณ ที่นั้นด้วย เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ย่อมแสดงถึงความเป็นยอดภิกษุณีของพระอุบลวรรณาเถรี ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้าย ของพระพุทธองค์
(credit from http://www.vimokkha.com/ubonwanna.htm)
ทรงสำแดงยมกปาฏิหาริย์ข่มพวกเดียรถีย์
ที่ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์
ภาพที่เห็นนั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ในวันเพ็ญกลางเดือนแปดก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน
ปาฏิหาริย์ คือ การแสดงให้คนเห็นเป็นที่อัศจรรย์ ซึ่งสามัญชนหรือคนที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนแสดงไม่ได้ มีตั้งแต่อย่างต่ำ เช่น เล่นกล หรือที่เรียกว่าแสดงปาหี่ ขึ้นไปจนถึงเดินบนน้ำ ดำดิน ลุยไฟ กลืนกินตะปู ที่พวกฤาษีแสดง ตลอดถึงการเหาะเหินเดินอากาศที่ผู้มีฤทธิ์แสดง ปุถุชนแสดงได้ พระอรหันต์ผู้ได้ฌาณได้ฤทธิ์ก็แสดงได้
ยมก แปลว่า คู่หรือสอง ยมกปาฏิหาริย์ คือ การแสดงคู่ น้ำคู่กับไฟ คือเวลาแสดง ท่อน้ำใหญ่พุ่งออกจากพระกายเบื้องบนของพระพุทธเจ้า เปลวไฟพุ่งเป็นลำออกจากพระกายเบื้องล่าง เป็นต้น
ยมกปาฏิหาริย์แสดงได้แต่ผู้เดียว คือผู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระอรหันตสาวก และเดียรถีย์ ฤาษีชีไพร แสดงได้แต่ปาฏิหาริย์ธรรมดา เช่น เดินบนน้ำ ดำดิน เป็นต้น
สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ครั้งนี้ คือที่โคนต้นมะม่วง หรือ คัณฑามพฤกษ์ ในเมืองสาวัตถี มูลเหตุที่ทรงแสดงคือ เพราะพวกเดียรถีย์นักบวชนอกศาสนาพุทธ ท้าพระพุทธเจ้าแข่งแสดงปาฏิหาริย์ว่าใครจะเก่งกว่ากัน พวกเดียรถีย์ทราบว่า พระพุทธเจ้าจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วง จึงให้สาวกและชาวบ้านที่นับถือพวกตน จัดการโค่นต้นมะม่วงเสียสิ้น ทราบว่าบ้านใคร สวนใครมีต้นมะม่วงก็ใช้อิทธิพลทางการเงินซื้อ แล้วโค่นทำลายหมด แม้หน่อมะม่วงที่เกิดในวันนั้นก็ทำลายไม่เหลือ
แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่โคนต้นมะม่วงจนได้ โดยมีผู้นำผลมะม่วงสุกมาถวาย ทรงฉันเสร็จแล้ว รับสั่งให้คนปลูกเมล็ดลงดิน แล้วพระองค์ทรงใช้น้ำที่ล้างพระหัตถ์รด ปรากฏว่าหน่อมะม่วงโตพรวดพราด แตกกิ่งก้านสูงขึ้นถึง ๕๐ ศอก ผลที่สุดพวกเดียรถีย์พ่ายแพ้ไป
ถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน
ภาพที่เห็นนั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คือ จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อภายหลังเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือวันออกพรรษา เมืองที่เสด็จลงคือเมืองสังกัสนคร เสด็จลงตรงประตูเมือง พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า 'อจลเจดีย์' เรียกอย่างไทยเราก็ว่า 'รอยพระพุทธบาท' ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่
ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได ๓ บันไดเป็นที่เสด็จลง คือ บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุ เชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสนคร
หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นในภาพ จึงคือหมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ เบื้องซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือท้าวมหาพรหม ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือพระอินทร์ ผู้ถือพิณบรรเลงถัดมาคือปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตร ถัดมาเบื้องขวาคือมาตุลีเทพบุตร ซึ่งถือพานดอกไม้ทิพย์โปรยปรายนำทางเสด็จพุทธดำเนิน
พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิสุทธิเทพผู้บริสุทธิ์ นักเขียนศาสนาพุทธรุ่นต่อมาจึงถวายพระนามเฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งว่า 'เทวาติเทพ' แปลว่า ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทุกชั้น เทพต่างๆ ที่คนอินเดียในสมัยนั้นนับถือกัน เช่น พระอินทร์ และท้าวมหาพรหม เป็นต้น
คนผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองไทย ถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง จึงนิยมทำบุญตักบาตรกันในวันนี้ เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกการตักบาตรนี้ว่า 'ตักบาตรเทโว' ย่อมาจาก 'เทโวโรหณะ' แปลว่า ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง
ครั้นแล้วก็ทรงเปิดโลก บันดาลให้
เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก แลเห็นซึ่งกันและกัน
วันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์นั้น พระองค์ได้แสดงปาฏิหาริย์อีกครั้งหนึ่ง คือขณะที่พระองค์ประทับยืนอยู่ที่บันไดแก้ว ทรงทอดพระเนตรไปทางทิศเบื้องบน เทวโลกและพรหมโลกก็เปิดมองเห็นโล่ง เมื่อทรงทอดพระเนตรไปในทิศเบื้องต่ำ นิรยโลกทั้งหลายก็เปิดโล่ง ในครั้งนั้น สวรรค์ มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างก็เห็นซึ่งกันและกันทั่วจักรวาล
ภาพนี้อยู่ในเหตุการณ์ตอนเดียวกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกเหตุการณ์ตอนนี้ว่า พระพุทธเจ้าทรงเปิดโลก โลกที่ทรงเปิดในเหตุการณ์คราวนี้มี ๓ โลก คือ เทวโลก มนุษยโลก และยมโลก
เทวโลก หมายถึง ตั้งแต่พรหมโลกลงมาจนถึงสวรรค์ทุกชั้น มนุษย์โลกก็คือโลกมนุษย์ และยมโลกซึ่งอยู่ทางเบื้องต่ำ คือ นรกทุกขุมจนกระทั่งถึงอเวจีมหานรก
พระพุทธเจ้าขณะเสด็จลงจากสวรรค์ ทอดพระเนตรดูเบื้องบนโลกทั้งมวล ตั้งแต่มนุษย์ก็สว่างโล่งขึ้นไปถึงเทวโลก เมื่อทรงเหลียวไปรอบทิศรอบด้านสากลจักรวาลก็โล่งถึงกันหมด และเมื่อทอดพระเนตรลงเบื้องล่าง ความสว่างก็เปิดโล่งลงไปถึงนรกทุกขุม
ผู้อาศัยอยู่ในสามโลกต่างมองเห็นกัน มนุษย์เห็นเทวดา เทวดาเห็นมนุษย์ มนุษย์และเทวดาเห็นสัตว์นรก สัตว์นรกเห็นเทวดาและมนุษย์ แล้วต่างเหลียวมองดูพระพุทธเจ้าผู้เสด็จลงจากสวรรค์ด้วยพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่
คัมภีร์ธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์เป็นผู้แต่งบอกว่า "วันนี้คนทั้งสามโลกได้เห็นแล้ว ที่ไม่อยากเป็นพระพุทธเจ้านั้นไม่มีเลยสักคน" ปฐมสมโพธิพรรณนาไว้ยิ่งกว่านี้เสียอีก คือว่า
"ครั้งนั้นเทพยดามนุษย์แลสัตว์เดรัจฉาน กำหนดที่สุดมดดำมดแดง ซึ่งได้เห็นองค์พระชินสีห์ แลสัตว์คนใดคนหนึ่งซึ่งจะมิได้ปรารถนาพุทธภูมินั้นมิได้มีเป็นอันขาด"
พุทธภูมิ คือ ความเป็นพระพุทธเจ้า คำว่า พระพุทธเจ้าทรงเปิดโลกทั้งสาม ให้คนทั้งสามโลกนี้มองเห็นกันและกันนั้น ถ้าจะถอดใจความให้ฟังได้ ก็คือ วันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มีคนมาฟังธรรมกันมากที่สุด คนมองเห็นบาปบุญคุณโทษ ผลบาป คือ ความทุกข์ ได้แก่ นรก ผลบุญ คือ ความสุข ได้แก่ สวรรค์ และความมีศีลธรรม ทำให้คนเป็นคนที่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน
ถึงเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ พระยามารเข้าเฝ้า
ทูลให้เสด็จปรินิพพาน ทรงรับอาราธนา
พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกประกาศพระศาสนาตามแคว้นและเมืองต่างๆ เป็นเวลา ๔๕ พรรษา นับตั้งแต่วันตรัสรู้เป็นต้นมา พรรษาที่ ๔๕ จึงเป็นพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า และเป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ ปี นับแต่ประสูติเป็นต้นมา
พรรษาสุดท้าย พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เวฬุคาม แขวงเมืองไพศาลี ระหว่างพรรษาทรงพระประชวรเพราะอาพาธหนัก จวนเจียนจะเสด็จนิพพาน พระสงฆ์ทั้งปวงที่ยังเป็นปุถุชน หรือแม้แต่พระอานนท์ องค์อุปัฏฐากต่างก็หวั่นไหว เพราะความตกใจที่เห็นพระพุทธเจ้าประชวรหนัก พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า เวลานี้พระกายของพระองค์ถึงอาการชรามาก มีสภาพเหมือนเกวียนชำรุด ที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่
ทรงหายจากอาพาธคราวนี้แล้ว และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์เสด็จไปประทับที่ร่มพฤกษาแห่งหนึ่งในปาวาลเจดีย์ แขวงเมืองไพศาลี เวลากลางวัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอภาศนิมิตแก่พระอานนท์ว่า 'อิทธิบาทสี่' (ชื่อของธรรมหมวดหนึ่งมี ๔ ข้อ) ถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญได้เต็มเปี่ยมแล้ว สามารถจะต่ออายุให้ยืนยาวไปได้อีกกำหนดระยะเวลาหนึ่ง
'โอภาสนิมิต' แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า 'บอกใบ้' คือพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุจะสิ้นสุดลงในปีที่กล่าวนี้ จึงทรงบอกใบ้ให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่พระอานนท์ท่านนึกไม่ออก ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกใบ้ถึง ๓ หน
ปฐมสมโพธิบอกว่า เมื่อพระอานนท์นึกไม่ออกเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกพระอานนท์ให้ไปนั่งอยู่ที่ใต้ร่มไม้อีกแห่งหนึ่ง แล้วมารก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงรับคำ แล้วทรงปลงอายุสังขาร
'ปลงอายุสังขาร' แปลเป็นภาษาสามัญได้ว่า กำหนดวันตายไว้ล่วงหน้า วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสาม พระพุทธเจ้าตรัสว่า นับจากนี้ไปอีก ๓ เดือนข้างหน้า (กลางเดือนหก) พระองค์จะนิพพานที่เมืองกุสินารา
เสด็จไปกรุงกุสินารา ทรงกระหายน้ำ
โปรดให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาถวาย
ระหว่างทางเสด็จไปเมืองกุสินารา ภายหลังทรงฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว พระพุทธเจ้าทรงประชวรด้วยพระโรคปักขันธิกาพาธอย่างหนัก จวนเจียนจะเสด็จนิพพาน ณ ที่นั้นเสียก่อนกำหนด แต่ทรงระงับอาพาธนั้นเสียได้ด้วยขันติบารมี คือ ความอดกลั้น
ปักขันธิกาพาธเป็นพระโรคอย่างหนึ่งซึ่งเกิดประจำพระองค์พระพุทธเจ้า คือทรงพระบังคนถ่ายออกมาเป็นโลหิต มีผู้สันนิษฐานกันว่าคงได้แก่ ริดสีดวงลำไส้
เพราะเหตุที่ประชวรพระโรคดังกล่าว พระพุทธเจ้าจึงทรงลำบากพระกายมาก แต่ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ ไม่ทรงทุรนทุราย
เสด็จถึงระหว่างทางแห่งหนึ่ง ซึ่งมีแม่น้ำเล็กๆ มีน้ำไหล พระพุทธเจ้าแวะลงข้างทาง เข้าประทับใต้ร่มพฤกษาแห่งหนึ่ง ตรัสบอกพระอานนท์ให้พับผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วปูลาดถวาย เสด็จนั่งเพื่อพักผ่อน แล้วตรัสให้พระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำ
"เราจักดื่มระงับความกระหายให้สงบ" พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์
พระอานนท์กราบทูลว่า แม่น้ำตื้นเขิน เกวียนประมาณ ๕๐๐ เล่มของพวกพ่อค้าเกวียนเพิ่งข้ามแม่น้ำผ่านไปเมื่อสักครู่นี้ เท้าโคล้อเกวียนบดย่ำทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "อีกไม่ไกลแต่นี้ มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อกุกกุฏนที มีน้ำใส จืดสนิท เย็น มีท่าน้ำสำหรับลงเป็นที่รื่นรมย์ ขอเชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไปที่แม่น้ำนั้นเถิด พระเจ้าข้า"
พระพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธคำทูลทัดทานของพระอานนท์ถึง ๓ ครั้ง พระอานนท์จึงอุ้มบาตรเดินลงไปตักน้ำในแม่น้ำ ครั้นเห็นน้ำ พระอานนท์ก็อัศจรรย์ใจนักหนา พลางรำพึงว่า
"ความที่พระตถาคตพุทธเจ้ามีฤทธิ์และอานุภาพใหญ่หลวงเช่นนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก แม่น้ำนี้ขุ่นนัก เมื่อเราเข้าไปใกล้เพื่อจะตัก น้ำกลับใสไม่ขุ่นมัว"
ครั้นแล้วพระอานนท์ก็นำบาตรตักน้ำนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า
ปรินิพาน
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอยู่จนพระชนมายุ ๘๐ พรรษาในวาระนั้นพระพุทธองค์ทรงพระชราภาพมากแล้วทั้งยังประชวรหนักด้วย พระองค์ได้ทรงพระดำเนินจากเวสาลีสู่เมืองกุสินาราเพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ เมืองนั้น แล้วเสด็จต่อไปยังเมืองปาวา เสวยพระกระยาหารเป็นครั้งสุดท้ายที่บ้านนายจุนทะ บุตรนายช่างทอง พระองค์เสด็จถึงสาลวโนทยาน (ป่าสาละ)ของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานพระองค์ได้อุปสมบทแก่พระสุภัททะปริพาชก นับเป็นสาวกองค์สุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้
พระพุทธองค์ได้มีพระดำรัสครั้งสำคัญว่า “ โย โว อานนท ธมม จ วินโย มยา เทสิโต ปญญตโต โส โว มมจจเยน สตถา ” อันแปลว่า " ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยอันที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"
และพระพุทธองค์ได้แสดงปัจฉิมโอวาทแก่พระภิกษุสงฆ์ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้าย ที่เราจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายทั้งปวงมีความสิ้นไปและเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความรอดพ้นให้บริบูรณ์ถึงที่สุดด้วยความไม่ประมาทเถิด"
สรุปพุทธกิจในรอบวันของพระพุทธองค์
๑. ปุพพณเห ปิณฑปาตญจ ตอนเช้าเสด็จออกบิณฑบาตเพื่อโปรดเวไนยสัตว์
๒.สายณเห ธมมเทสน ตอนเย็นทรงแสดงธรรมโปรดมหาชนที่มาเข้าเฝ้า
๓.ปโทเส ภิกขุโอวาท ตอนหัวค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุทั้งเก่าและใหม่
๔.อฑฒรตเต เทวปญหาน ตอนเที่ยงคืนทรงวิสัชชนาปัญหาให้แก่เทวดาชั้นต่างๆ
๕.ปจจสเสว คเต กาเล ภพพาภพเพ วิโลกน ตอนใกล้รุ่งตรวจดูสัตว์โลกที่สามารถและไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แล้วเสด็จไปโปรดถึงที่ แม้ว่าหนทางจะลำบากเพียงใดก็ตาม
พอพระมหากัสสปถวายบังคมพระพุทธศพ
เพลิงสวรรค์ก็บันดาลลุกโชติช่วง
เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ทางคณะสงฆ์และทางบ้านเมือง คือ เจ้ามัลลกษัตริย์ผู้ครองเมืองกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระศพพระพุทธเจ้าอยู่เป็นเวลาถึง ๖ วัน ในวันที่ ๗ จึงเชิญพระศพเป็นขบวนไปทางทิศเหนือของเมือง ผ่านใจกลางเมือง แล้วเชิญพระศพไป 'มกุฏพันธนเจดีย์' ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง เพื่อถวายพระเพลิง วันที่กำหนดจะถวายพระเพลิงนั้น ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งทุกวันนี้ทางเมืองไทยเราถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เรียกว่า 'วันอัฐมีบูชา'
ผู้เชิญหรือหามพระศพพระพุทธเจ้า เรียกว่า 'มัลลปาโมกข์' มีจำนวน ๘ นาย แต่ละนายรูปร่างใหญ่กำยำล่ำสัน มีกำลังมาก 'มัลลปาโมกข์' แปลว่า หัวหน้านักมวยปล้ำ
พระศพพระพุทธเจ้าห่อด้วยผ้าใหม่ ที่ปฐมสมโพธิบอกจำนวนไว้ว่ามีถึง ๕๐๐ ชั้น ถอดเอาใจความว่า มีหลายชั้นนั่นเอง แต่ละชิ้นซับด้วยสำลี แล้วเจ้าหน้าที่เชิญลงประดิษฐานในหีบทองที่เต็มไปด้วยน้ำหอม แล้วปิดฝาครอบไว้ แล้วเชิญขึ้นจิตกาธานที่ทำด้วยไม้หอมหลายชนิด
พอได้เวลา เจ้าหน้าที่ได้จุดไฟขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ตำนานว่าจุดเท่าไรไฟก็ไม่ติด เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองจึงเรียนถามพระอนุรุทธ์ (พระอนุรุทธ์เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้า เป็นพระสาวกได้สำเร็จพระอรหันต์) พระอนุรุทธ์จึงแจ้งให้ทราบว่า เป็นเพราะเทพเจ้าต้องการให้รอพระมหากัสสป ซึ่งกำลังเดินทางมายังไม่ถึง ได้ถวายบังคมพระศพเสียก่อน ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเดินทางมาถึง ได้ถวายบังคมพระศพพระพุทธเจ้าแล้ว จึงเกิดเพลิงทิพย์ด้วยเทวาฤทธานุภาพ
ภายหลังจากนั้น เพลิงได้ไหม้พระสรีระของพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้น เหลืออยู่แต่พระอัฐิ พระเกศา พระทนต์ และผ้าอีกคู่หนึ่ง พระพวกมัลลกษัตริย์ได้นำน้ำหอมหลั่งลงดับถ่านไฟที่จิตกาธาน แล้วเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่สัณฐาคารศาลา คือหอประชุมกลางเมือง รอบหอประชุมนั้นจัดทหารถืออาวุธพร้อมสรรพคอยพิทักษ์รักษา และทำสักการบูชาด้วยฟ้อนรำ ดนตรี ประโคมชัย และดอกไม้นานาประการ และมีนักขัตฤกษ์เอิกเกริกกึกก้องฉลองถึง ๗ วันเป็นกำหนด
โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุ
แก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร
ข่าวพระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองกุสินาราแล้ว เจ้ามัลลกษัตริย์แห่งนครนี้พร้อมด้วยคณะสงฆ์ได้ถวายพระเพลิงแล้วนั้น ได้แพร่ไปถึงบรรดาเจ้านครแห่งแคว้นต่างๆ บรรดาเจ้านครเหล่านั้นจึงได้ส่งคณะฑูตรีบรุดมายังเมืองกุสินาราพร้อมด้วยพระราชสาส์น
คณะฑูตทั้งหมดมี ๗ คณะ มาจาก ๗ นคร มีทั้งจากนครใหญ่ เช่น นครราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นแห่งแรก และนครอื่นๆ เช่น กบิลพัสดุ์ เมืองประสูติของพระพุทธเจ้า คณะฑูตทั้ง ๗ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองกุสินาราก็ได้ยื่นพระราชสาส์นนั้นแก่เจ้ามัลลกษัตริย์ ในพระราชสาส์นนั้นมีความว่า เจ้านครทั้ง ๗ มาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำไปบรรจุในสถูปให้เป็นที่สักการบูชาไว้ที่นครของตน พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ตอบปฏิเสธแข็งขันไม่ยอมให้ โดยอ้างเหตุผลว่า พระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองของตน พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นสมบัติของเมืองนี้เท่านั้น
เมื่อเจ้ามัลลกษัตริย์ไม่ยอมแบ่ง บรรดาเจ้านครทั้ง ๗ ก็ไม่ยอม จะขอส่วนแบ่งให้ได้ สงครามแย่งพระบรมสารีริกธาตุก็ทำท่าจะเกิดขึ้น แต่พอดีท่านผู้หนึ่งซึ่งชื่อ 'โทณพราหมณ์' ได้ระงับสงครามไว้เสียก่อน โทณพราหมณ์อยู่ในเมืองกุสินารา ตามประวัติแจ้งว่าเป็นผู้เฉลียวฉลาดในการพูด เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาเจ้านคร และเป็นผู้มีชื่อเสียงในเรื่องเกียรติคุณ ได้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเลขาธิการสหประชาติในสมัยปัจจุบัน คือได้ระงับสงครามไว้เสียทัน โดยได้ปราศรัยให้ที่ประชุมฟังว่า
"พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงสรรเสริญขันติธรรมและสามัคคีธรรม แล้วเราทั้งหลายจะมาทะเลาะวิวาท ทำสงครามกันเพราะพระบรมสารีริกธาตุเป็นเหตุทำไม มาแบ่งกันให้ได้เท่าๆ กันดีกว่า พระบรมสารีริกธาตุจักได้แพร่หลาย และเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั่วโลก"
ที่ประชุมเลยตกลงกันได้ โทณพราหมณ์จึงทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน โดยใช้ตุมพะ คือทะนานทองเป็นเครื่องตวง ให้เจ้านครทั้ง ๗ คนละส่วน เป็น ๗ ส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นของเจ้านครกุสินารา แล้วเจ้านครทั้งหมดต่างอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้น ใส่ผอบนำไปบรรจุสถูปยังเมืองของตนๆ ฝ่ายโทณพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่แบ่ง ได้ขอเอาทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุนั้นไปเป็นที่ระลึก แล้วนำไปบรรจุไว้สถูปต่างหาก การแจกพระบรมสารีริกธาตุก็เสร็จสิ้นลงด้วยความเรียบร้อย
พระมหากัสสปกับพระอริยสงฆ์ยกปฐมสังคายนา
สืบอายุพระศาสนามาถึงบัดนี้
ตอนถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา เป็นเวลาที่พระสงฆ์สาวกซึ่งเดินทางมาชุมนุมกันที่เมืองนี้มีจำนวนมากกว่าครั้งใดๆ จึงเมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว พระมหากัสสปซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ได้จัดให้มีการประชุมพระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรกขึ้นที่เมืองกุสินารา
เรื่องที่ประชุม คือ เรื่องจะสังคายนาพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ ท่านได้ปรารภเรื่องเสี้ยนหนามพระศาสนา ที่ท่านได้ประสบเมื่อระหว่างเดินทางมา ที่พระภิกษุแก่กล่าวแสดงความยินดีที่พระพุทธเจ้านิพพานให้ที่ประชุมรับทราบด้วย
ที่ประชุมมีมติเลือกพระสงฆ์เถระ ๓ รูป เป็นประธานทำหน้าที่สังคายนา คือ พระมหากัสสป พระอุบาลี และพระอานนท์ ในการนี้ให้พระมหากัสสปเป็นประธานใหญ่ ให้มีหน้าที่คัดเลือกจำนวนสมาชิกสงฆ์ผู้จะเข้าร่วมประชุมทำสังคายนา พระมหากัสสปคัดเลือกพระสงฆ์ได้ทั้งหมด ๕๐๐ รูป แล้วตกลงเลือกเอานครราชคฤห์ แห่งแคว้นมคธ เป็นสถานที่ประชุม ส่วนเวลาประชุมคือตั้งแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นไป หรืออีก ๓ เดือนนับแต่นี้
หลังจากนั้น พระสงฆ์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมทำสังคายนา ต่างเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์ เมื่อไปถึงทางคณะสงฆ์ได้ขอความอุปถัมภ์จากบ้านเมืองแห่งนี้ ในด้านการซ่อมวิหารที่พักสงฆ์ ตกแต่งสถานที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นในถ้ำปาสาณคูหา ในภูเขาเวภารบรรพตซึ่งอยู่นอกเมือง
ทางคณะสงฆ์ได้ขอให้ทางบ้านเมืองประกาศห้ามนักบวชและพระสงฆ์อื่นๆ ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทำสังคายนา เข้ามาอยู่ในเมืองราชคฤห์ ตลอดเวลาที่คณะสงฆ์ทั้งหมดทำสังคายนาอยู่ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุปสรรคขวากหนามอันอาจจะเกิดมี เป็นเหตุให้การประชุมทำสังคายนาเป็นไปโดยความไม่เรียบร้อยนั่นเอง
(credit from http://board.palungjit.com/f10/ภาพพุทธประวัติ-134676-5.html)
การเกิดของพระพุทธเจ้า10ชาติสำคัญ ที่บำเพ็ญบารมีก่อนได้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย
เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว
1. เต .... คือพระเตมีย์
2. ชะ.... คือพระมหาชนก
3. สุ ..... คือพระสุวรรณสาม
4. เน .... คือพระเนมิราช
5. มะ ... คือพระมโหสถ
6. ภู ..... คือพระภูริทัติ
7. จะ ... คือพระจันทกุมาร
8. นา ... คือพระนารท
9. วิ ..... คือพระวิทูรย์
10. เว .. คือพระเวสสันดร
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
1. วันวิสาขบูชา หรือ วิศาขบูชา เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพุทธศาสนา ย่อมาจาก "วิสาขปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (มักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน) วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ตรงกันทั้ง 3 คราว ชาวพุทธทั่วโลกมักจัดพิธีทำบุญใหญ่ นอกจากถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำด้วย
2.วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทในประเทศไทย อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (มักจะตรงกับเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคม) เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก (ปฐมเทศนา) คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด
3.วันมาฆบูชา ย่อมาจาก มาฆปุรณมีบูชา หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินของอินเดียหรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ใช้เรียกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งว่า วันมาฆบูชา ตามปกติตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่หากปีใดเป็นปีอธิกมาส (มีเดือน 8 สองหน) วันมาฆบูชาจะเลื่อนไปเป็นขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 และมักตกอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม วันมาฆบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ๔ อย่างคือ
๑. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้มีการนัดหมาย
๒. ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือได้รับอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า
๓. ท่านเหล่านั้นเป็นอรหันต์ทรงอภิญญาทั้งสิ้น
๔. วันที่ประชุมเป็นวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน ๓
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ ๔ อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจาตุรงคสันนิบาต โดยประชุมกัน ณ พระเวฬุวัน หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน นอกจากนี้ วันที่พระองค์ทรงแสดง โอวาทปาฏิโมกข์ (การปลงพระชนมายุสังขาร ก็ตรงกับวันนี้) วันมาฆบูชาเรานิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ไปวัดรับศีล ฟังเทศน์ตอนกลางวัน และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
ศีล5สำหรับพุทธศาสนิกชน
๑. เว้นจากทำลายชีวิต ฆ่าผู้อื่นหรือใช้ผู้อื่นไปฆ่า เบียดเบียนทำร้ายให้เจ็บป่วยเจ็บปวดเดือดร้อน กักขังทรมานผู้อื่น
๒. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้ ลักทรัพย์ ขโมย ฉ้อโกง ยักยอก ทำลายทรัพย์ของผู้อื่น
๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม แย่งสามีภรรยาของผู้อื่น คบชู้ ผิดลูกเมียเขา ล่วงเกินบุตรธิดาของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาติ แย่งคนรักของคนอื่น,กีดกันความรักคนอื่น,นอกใจคู่ครอง,หลอกลวง, ข่มขืน,ค้าประเวณี, ล่วงเกินทางเพศต่างๆ
๔. เว้นจากพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดนินทา ใส่ร้ายผู้อื่น โกหก ปลิ้นปล้อน กลับคำ ไม่มีสัจจะ หลอกลวงผู้อื่น ยุแยงให้คนแตกกัน ใช้วาจาดูหมิ่น ขี้โม้ นินทา ด่าทอ ด่าพ่อล้อแม่ ด่าและเถียงผู้มีพระคุณ ผิดสัญญา สาบานแล้วไม่ทำตาม
๕. เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ดื่มของมึนเมา เสพยาเสพติด ให้ยาเสพติด ให้ของมึนเมา ขายของมึนเมา ขายยาเสพติด
พุทธทำนาย
คำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า
ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลและคำทำนายของพระพุทธเจ้าทั้ง 16 ประการ ประกอบด้วย
1. ภัยธรรมชาติ ทรงฝันว่า มีโคตัวผู้สีเหมือนดอกอัญชัญ 4 ตัว ต่างคิดจะชนกัน ก็พากันวิ่งมาสู่ท้องพระลานหลวงจาก 4 ทิศ ฝูงชนต่างรอดู โคทั้งสี่ก็ส่งเสียงคำรามลั่น แต่แล้วต่างก็ถอยออกไป ไม่ชนกัน
พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น จะเกิดภัยธรรมชาติขึ้น คือ ฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล จะมีก้อนเมฆขนาดใหญ่ลอยมาจากทิศทั้ง 4 เหมือนกับฟ้าฝนจะตกลงมาในพื้นปฐพีอย่างหนัก เมื่อก้อนเมฆทั้ง 4 ลอยเข้ามาใกล้กันแล้ว ก็ลอยถอยห่างออกจากกันไป ไม่มีฝนตกลงมาในพื้นปฐพีเลย
2. เยาวชนมั่วสุมเสพกาม ทรงฝันว่า ต้นไม้เล็กๆและกอไผ่ที่โตเพียงคืบบ้าง ศอกบ้าง ก็ออกดอกออกผลแล้ว
พระพุทธองค์ทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น กุมารีที่มีวัยยังไม่สมควรจะมีสามี แต่กุมารีนั้นอยากแต่งงานให้เป็นครอบครัว เพราะมีความกระสัน ใฝ่ฝันในราคะตัณหา ใจมีความกำเริบในกามคุณ มีความยินดีใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอย่างมาก มีความอยากในกามารมณ์แห่งความรักความใคร่ จึงได้แต่งงานกันเมื่ออายุยังวัยเด็ก ถูกต้องตามประเพณีนิยม บางคนมั่วสุมกัน ไม่มีความละอาย เยี่ยงสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อตั้งครรภ์ขึ้นมา ก็หาวิธีฆ่าลูกในท้องของตัวเอง จึงเป็นบาปกรรมต่อไปในภายภาคหน้ายิ่งนัก เด็กบางคน ยังมีพ่อแม่เลี้ยงดูอยู่บ้าง เด็กบางคนพ่อแม่เลี้ยงดูไม่ไหว จึงได้ปล่อยปละละเลยให้หาขอทานกินตามลำพัง เป็นเด็กเร่ร่อนจรจัด ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีตระกูล ไม่มีการศึกษา ไม่มีที่พึ่งพาอาศัยในบ้านเรือน ค่ำที่ไหนนอนที่นั่น อดบ้าง อิ่มบ้าง น่าเวทนายิ่งนัก เหตุการณ์อย่างนี้ จะมีในภายภาคหน้าโน้นใครได้ไปเกิดในยุคนั้น สมัยนั้น ก็จะต้องเจอเหตุการณ์อย่างนี้แล
3.พ่อแม่ต้องเอาใจลูก ทรงฝันว่า ทรงเห็นแม่โคใหญ่ๆพากันดื่มนมของฝูงลูกโคที่เพิ่งเกิด
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น พ่อแม่ทั้งหลาย จะได้อาศัยกินหยาดเหงื่อแรงงานของลูก อาศัยข้าวปลาอาหารเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ลูกแสวงหามาเลี้ยงดู พร้อมทั้งเงินทอง ก็ต้องแบ่งปันให้พ่อแม่ได้จับจ่ายใช้สอย ในยุคนั้นสมัยนั้น พ่อแม่ก็ต้องเอาอกเอาใจลูกยิ่งนัก ต้องประจบประแจงปะเหลาะลูกอยู่เสมอ ถ้าพูดต่อลูกดีๆ ลูกก็แบ่งปันเงินทองให้ได้ใช้บ้าง ถ้าพ่อแม่พูดไม่ดี ก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งอะไรจากลูกนี้เลย เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
4.ผู้อ่อนประสบการณ์บริหารประเทศ ทรงฝันว่าผู้คนไม่ใช้วัวตัวใหญ่ที่สมบูรณ์แข็งแรงเทียมแอกลากเกวียน กลับไปใช้โครุ่นๆที่ยังปราศจากกำลังมาลาก เมื่อมันลากเกวียนให้แล่นไม่ได้ มันก็สลัดแอกนั้นเสีย
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนทั้งหลายจะพากันนิยมเอาเด็กที่จบปริญญามาใหม่ๆ ไปรับราชการแผ่นดิน บริหารการพัฒนาประเทศชาติ บ้านเมือง อันเป็นงานที่หนัก ถึงจะมีความรู้อยู่ก็ตาม แต่เด็กนั้นยังขาดประสบการณ์ ขาดความสามารถ ขาดความรอบรู้ ขาดความรอบคอบ ในการบริหารเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม จึงเกิดความผิดพลาด ล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ ขาดความรับผิดชอบ ขาดดุลการค้า ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทำให้ถ่วงความเจริญของประเทศชาติ ทำให้คนดุด่าว่ากล่าวนานาประการ เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
5.ความไม่เป็นธรรมในการตัดสินความ ทรงฝันว่าเห็นม้าตัวหนึ่ง มีปากสองข้าง ฝูงชนก็เอาหญ้าไปป้อนที่ปากทั้งสองข้าง มันก็กินทั้งสองข้าง
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนผู้มีหน้าที่ตัดสินคดีความต่างๆ จะใช้อุบายวิธีอันมีเล่ห์เหลี่ยม เพื่อเอาเงินจากคู่กรณีทั้งสอง เอาทั้งฝ่ายโจทก์ เอาทั้งฝ่ายจำเลย เพื่อเป็นค่าจ้างรางวัลในการวินิจฉัยคดีความบ้าง เอาค่านั้นบ้าง เอาค่านี้บ้าง ถ้าไม่ได้ตามความเรียกร้อง ก็จะไม่รับเรื่องที่มาร้องเรียน ต้องการเท่าไรก็เรียกร้องตามใจชอบ ถ้าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เรียกร้องเอาน้อย ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ก็จะเรียกร้องเอาเงินอย่างเต็มที่ แล้วจึงจะมาวินิจฉัยคดี ตัดสินต่อไป เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีภายภาคหน้าทั่วโลก
6.พระธรรมคำสอนถูกเหยียบย่ำ ทรงฝันว่าฝูงชนเอาถาดทองราคาแพง ไปให้หมาจิ้งจอกแก่ตัวหนึ่ง พร้อมเชื้อเชิญให้หมาจิ้งจอกตัวนั้นถ่ายปัสสาวะใส่ถาดทองนั้น
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น กลุ่มคนที่โง่เขลาปัญญาทราม จะเอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ไปให้ลัทธิต่างๆ เหยียบย่ำทำลาย แล้วถ่ายทอดลัทธิของเขา เอาคำสอนของเขาที่สกปรกโสโครกด้วยกิเลสตัณหา มากลบเกลื่อนในคำสอนของเรา แล้วดัดแปลงแก้ไขคำสอนของเรา ให้เข้ากันกับลัทธิของเขา แล้วประกาศว่า คำสอนของเราตถาคต เป็นส่วนหนึ่งในลัทธิของเขา ให้คนทั้งหลายมีความเข้าใจผิดว่า คำสอนของเราเข้ากันได้กับของเขา ถือว่าเป็นอันเดียวกัน ลัทธิเหล่านั้นก็จะไม่รู้คุณค่าของคำสอนของเราตถาคตแต่อย่างใด มนุษย์อย่างนี้ก็จะมีในเมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้ว และจะมีลัทธิต่างๆ มาอวดอ้างว่าเป็นศาสนาเป็นจำนวนมาก
7. ผู้มีใจต่ำแอบอ้างสถาบันกษัตริย์ ทรงฝันว่า มีชายคนหนึ่งนั่งฟั่นเชือก แล้วหย่อนไปในที่ใกล้เท้า แม่หมาจิ้งจอกโซตัวหนึ่งนอนอยู่ใต้ตั่งที่บุรุษนั้นนั่งอยู่ แล้วก็กัดกินเชือกนั้น โดยที่เขาไม่รู้ตัว
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนผู้มีจิตใจต่ำ ปัญญาทราม จะได้รับสมมุติ ยกย่องขึ้นเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ นั่งทำงานอยู่ในพระราชสำนักระดับสูง อาศัยอำนาจ พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์อยู่เนืองนิตย์ โดยมีความโง่เขลาเบาปัญญา พูดจาขาดความสำรวม กล่าวเปิดเผยความลับต่างๆ ในพระราชสำนัก ให้หมู่ประชาชนได้รู้ คนลัทธิต่างๆ ที่ไม่มีความหวังดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว ได้ยินเข้า จึงนำเอาไปตีแผ่ โฆษณาให้คนอื่นคลายศรัทธา หมดความเคารพในวงศ์พระมหากษัตริย์ และหมดความเชื่อถือในพระราชวงศ์ต่อไป เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น คนที่ไม่มีความหวังดีต่อพระมหากษัตริย์ จะเป็นหนอนบ่อนไส้เสียเอง
8.ทำบุญเลือกหน้า ทรงฝันว่ามีตุ่มน้ำเต็มเปี่ยมตุ่มหนึ่งวางอยู่ตรงประตูวัง แวดล้อมด้วยตุ่มว่างๆเป็นอันมาก แต่คนก็ยังไปตักน้ำใส่ตุ่มที่เต็มอยู่ จนล้นแล้วล้นอีก โดยไม่เหลียวแลจะตักใส่ตุ่มที่ว่างๆนั้นเลย
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น จะมีคนทำบุญโดยเลือกหน้า พระสงฆ์ที่มีอายุมาก พรรษามาก มียศถาบรรดาศักดิ์ในตำแหน่งต่างๆ จะมีคนให้ความสนใจจะพากันถวายเครื่องไทยทานเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่ของที่ดีๆ มีค่า มีราคา ข้าวปลาอาหาร ปิ่นโตเถาขนาดใหญ่ ตั้งต่อหน้า จนเหลือเฟือ ส่วนพระเล็กเณรน้อยนั่งอยู่รอบข้าง ไม่มีใครคิดถวายอะไรเลย มีแต่งนั่งดูตาปริบๆ เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
9. คอรัปชั่นในแผ่นดิน ทรงฝันเห็นสระแห่งหนึ่งมีบัวนานาชนิดขึ้นอยู่เต็ม และมีท่าขึ้นลงโดยรอบ สัตว์ต่างๆก็พากันดื่มน้ำในสระ แต่แทนที่น้ำบริเวณที่สัตว์เหยียบย่ำจะขุ่น กลับใสสะอาด ส่วนน้ำที่อยู่ลึกกลางสระที่สัตว์ไม่ไปดื่มหรือ เหยียบย่ำแทนที่จะใส กลับขุ่นข้น
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนจะมีความโลภ ความอยาก ไม่อิ่มพอในเงินทองมากขึ้น การงานที่สะอาด บริสุทธิ์ และสุจริต ไม่อยากทำ ถือว่า เงินเดือนน้อย ร่ำรวยช้า ไม่พอกับความโลภความอยากของตัวเอง จึงได้ลงสมัครตัวเข้ามาในสภาสันนิบาต เพื่อจะมีอำนาจในการบริหารงานและบริหารเงินของแผ่นดินได้อย่างเต็มที่ ใช้อุบายวิธี อันมีเล่ห์เหลี่ยม ทุจริต คิดมิชอบ ในเงินของแผ่นดิน มือใครยาว สาวได้สาวเอา จะได้เงินมาด้วยวิธีสกปรกอย่างไร จะไม่มีความละอายแก่ใจตัวเองเลย ขอให้ได้เงินก้อนโตมา ก็เป็นที่พอใจ ลักษณะนี้จะมีกันทั่วโลก มีทั่วทุกประเทศเขตแดน และจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น จะเกิดความยุ่งเหยิงในสภาสันนิบาตของประเทศนั้นๆ เพราะการแบ่งสันตำแหน่งในการดูดกินเงินภายในประเทศนั้น ไม่ลงตัว ผู้นั้นจะได้กินน้อย ผู้นั้นจะได้กินมาก ผู้นั้นจะไม่ได้กินอะไรเลย สุดท้ายก็เกิดงัดข้อกันเอง เหตุการณ์อย่างนี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
10.สงสัยในมรรคผลนิพพาน ทรงฝันว่า เห็นข้าวที่คนหุงในหม้อใบเดียวกัน สุกไม่เท่ากัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ข้าวแฉะ ข้าวดิบ และข้าวสุกดี
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนในโลกนี้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป กลุ่มหนึ่งจะมีความเชื่อว่า เราตถาคตเป็นที่พึ่งที่เคารพจริง พระธรรมคำสอนของเราตถาคตเป็นสวากขาตธรรม เมื่อนำไปปฏิบัติให้ถึงที่สุดแล้วจะพ้นจากทุกข์ได้จริง เชื่อว่ามีมรรคผลนิพพานจริง นรกสวรรค์มีจริง กรรมดีกรรมชั่วให้ผลแก่บุคคลที่กระทำจริง ตายแล้วเมื่อยังมีกิเลสตัณหาอยู่เชื่อว่าได้มาเกิดใหม่ อีกกลุ่มหนึ่งยังไม่แน่ใจว่า มรรคผลนิพพานในยุคนี้ สมัยนี้ มีจริงหรือไม่ เพราะพระพุทธศาสนาได้ล่วงเลยไปนาน พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า มีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ พระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ในยุคนี้มีจริงหรือไม่ มีแต่ความสงสัยลังเล ไม่แน่ใจ อีกกลุ่มหนึ่งปฏิเสธว่า มรรคผลนิพพานไม่มีนรกสวรรค์ไม่มี ทำดี ทำชั่วไม่ให้ผลในภายหน้าชาติหน้า ตายแล้วไม่ได้เกิดใหม่แต่อย่างใด ในช่วงปลายพุทธศาสนาโน้น คนจะเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดมากขึ้นๆ ดังนี้
11.นำพระธรรมมาขายกิน ทรงฝันว่าคนนำแก่นจันทน์ที่มีราคาแพง ไปแลกกับเปรียงเน่า (อ่านว่า เปรียง มี 3 ความหมาย คือ 1. นมส้มผสมน้ำแล้วเจียวให้แตกมัน 2.น้ำมันจากไขข้อวัว และ 3.เถาวัลย์เปรียง แต่ในที่นี้น่าจะหมายถึงเถาวัลย์เปรียง เทียบกับแก่นจันทน์ที่เป็นไม้เหมือนกันมากกว่า 2 ความหมายแรก)
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนพวกหนึ่ง จะเอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินตรา จะเขียนเป็นตำราเพื่อออกจำหน่าย ขายกิน หารายได้เพื่อเลี้ยงชีวิต เอาพระธรรมคำสอนของเราตถาคต ทำเป็นการแสดง แต่งกลอน เพื่อผลประโยชน์ในกัณฑ์เทศน์ แสดงธรรมเพื่อเห็นแก่ค่าจ้างรางวัล อันเป็นอามิส ไม่สมค่าราคากันเลย สิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นในช่วงปลายศาสนาของเราตถาคตโน้น
12. คนดีถูกขัดขวางรังแก ทรงฝันเห็นกระโหลกน้ำเต้าจมน้ำได้
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนดี มีความรู้ดี มีสติปัญญาดี มีความรอบรู้ มีความฉลาด มีความสามารถ มีทั้งพระและฆราวาส จะไม่ได้รับความยกย่องเชิดชูในสังคม จะถูกขัดขวางจากกลุ่มคนพาลสันดานชั่วอยู่ตลอดเวลา ถ้าเป็นฆราวาส ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง คนมีความรู้ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภาสันนิบาต หรือได้รับเลือกเข้ามาแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้ทำงานเพื่อประเทศชาติอย่างเต็มที่ จะมีกลุ่มทุจริตคิดมิชอบ เพื่อหวังผลประโยชน์ต่างๆ เบียดสีให้ตกเก้าอี้ไป ในสายตาของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ จะมองเห็นคนดีๆ ว่าเป็นตัวกาลกิณีของเขา ไม่ยอมที่จะให้เข้าไปรู้เห็นในความทุจริตคิดมิชอบของตน คนดีๆ จึงไม่มีในสังคมนี้เลย
ถ้าเป็นนักบวช ก็เป็นในลักษณะนี้เช่นกัน ท่านองค์ใดมีใจบริสุทธิ์ผุดผ่องในพระธรรมวินัย มีความรู้ดี ปฏิบัติชอบต่อมรรคผลนิพพาน ท่านเหล่านั้นจะไม่มีใครให้ความสนใจ ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากฟังธรรม จะมองเห็นว่าเป็นพระคร่ำครึล้าสมัยไม่เกิดศรัทธา ไม่อยู่ในสายตาของเขาแต่อย่างใด เพราะใจไม่มีความเคารพเชื่อถือในท่านเหล่านั้น แม้แต่จะแบ่งปันปัจจัยทั้งสี่ ที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ ก็ไม่เต็มใจ ถึงจะถวายให้ ก็นิดหน่อยพอเป็นพิธีเท่านั้น ท่านเหล่านี้จึงมีชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก ใครก็ไม่อยากบวชเป็นพระในลักษณะนี้ ในที่สุด พระดีๆ มีคุณธรรม ก็จะค่อยหมดไปๆ ในศาสนาของเราตถาคต เรื่องเหล่านี้ จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
13.คนชั่วเรืองอำนาจ ทรงฝันว่าศิลาแท่งทึบขนาดเรือน ลอยน้ำได้เหมือนเรือ
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น คนพาลสันดานชั่ว คนทุศีล คนทุธรรม คนขี้โกง คนหัวประจบสอพลอ คนทุจริตคิดมิชอบ คนไม่มีความละอาย จะได้เป็นที่ยกย่องเชิดชูในสังคม เป็นผู้มีบทบาท มีอำนาจ มีชื่อเสียงเกียรติยศ มีพวกพ้องบริวารมาก ถ้าเป็นฆราวาสก็จะมีแต่ผู้เชิดหน้าชูตา ไปไหนมาไหนมีแต่คนเคารพยำเกรง มีฝูงชนให้การต้อนรับเอาใจ เรียกว่าเป็นกระจกบานใหญ่ ให้แสงสะท้อนเงาของประเทศนั้นๆ สังคมของประเทศนั้นมีความเจริญหรือเสื่อมลง ก็ให้ดูกระจกบานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในสภา จะเป็นสื่อบอกประตูหน้าต่างของสังคมได้เป็นอย่างดี ประเทศใดมีตัวแทนในลักษณะใด จะรู้ได้ว่าผู้ที่เลือกเขาเข้ามา ก็เป็นลักษณะอย่างนั้น เขาจะเลือกเอาเกรดเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน
ถ้าเป็นนักบวช นักพรต ก็เป็นลักษณะนี้ ศาสนาจะมีความเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง ก็ขึ้นอยู่กับบริษัททั้งสี่ ลำพังพระอย่างเดียว จะโดดเด่นขึ้นในท่ามกลางของสังคมนั้นไม่ได้ พระที่จะมีชื่อเสียงโด่งดัง ก็เพราะญาติโยมนำไปออกข่าวโฆษณา ว่าองค์นั้นมีความขลังอย่างนั้น องค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ มีอภินิหาร ไปทางไหนก็นำไปออกข่าว องค์ไหนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ องค์ไหนเป็นพระอริยเจ้า ฆราวาสจะเป็นผู้คาดการณ์ให้เอง ในยุคสมัยนั้น พระอรหันต์จะเกิดจากลูกศิษย์ยกให้เอง ศิษย์แต่ละครู ศิษย์แต่ละสำนัก จะผลิตจะกำหนดรูปแบบอาจารย์ของตัวเอง ให้เป็นพระอรหันต์ขึ้น เรื่องข้อวัตรปฏิบัติของอาจารย์ มีความเคร่งครัดอย่างไร ก็นำไปโฆษณาอย่างหยดย้อย นี่เองก้อนศิลาแท่งทึงจึงได้ลอยอยู่บนผิวน้ำมีความโดดเด่นเห็นได้อย่างชัดเจน จึงเป็นธุรกิจในคราบผ้ากาสาวพัสตร์บังหน้า เอาศาสนามาแอบอ้างหากิน
เมื่อช่วงปลายศาสนาโน้น คนจะหมดความเลื่อมใสในศาสนาของเราตถาคต คนที่มีศรัทธาเบาบางก็จะค่อยจืดจางไป เพราะเห็นความชั่วร้ายในพระยุคนั้นๆ ผู้ที่มีปัญญาดี มีความมั่นคง มีเหตุมีผล เขาจะแสวงหาพระที่เป็นพระได้อย่างถูกต้อง เมื่อปลายศาสนาโน้น เรื่องอย่างนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอน
14. นักบวชหลงลาภยศ ทรงฝันว่า ทรงเห็นฝูงเขียดตัวเล็กๆ วิ่งไล่กวดงูเห่าตัวใหญ่ และกัดเนื้องูเห่าขาดเหมือนกัดก้านบัว แล้วกลืนกินเข้าไป
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น นักบวชองค์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีคำพูดเป็นวาทศิลป์ เคยแผ่พังพานในการแสดงธรรม มีบทบาทในสังคม มีประชาชนให้ความเคารพเชื่อถือเป็นอย่างมาก ได้รับลาภ ยศ สรรเสริญจนลืมตัว ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา รักษาใจไม่มีความฉลาด จึงขาดในการสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ปล่อยให้ไปสัมผัสในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงทำให้ใจเกิดอัฏฐารมณ์ คือ อารมณ์แห่งความรักความใคร่ในกามคุณ มีความกำหนัดย้อมใจ นางเขียดน้อย (สตรี) ได้มองเห็นช่องโหว่ จึงได้วางแผนหว่านล้อมด้วยมารยานานาประการ มีคำหวานอันหยดย้อยเหมือนน้ำอ้อยน้ำตาล ชโลมหัวใจงูเห่าจนหน้ามืดตาลาย หายใจไม่เต็มปอดอีนางเขียดน้อยได้จังหวะก็กระโดดคาบกลืนกินทันทีเรียบร้อยไป
15. แวดล้อมด้วยพระทุศีล ทรงฝันว่า ฝูงพญาหงส์ทอง ที่มีขนเป็นทอง ถูกแวดล้อมด้วยกา
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น พระเณรผู้บวชใหม่ ใจยังมีความบริสุทธิ์อยู่ในศีลในธรรม จะห้อมล้อมพระที่ทุศีลทุธรรม จะยกให้เป็นครูอาจารย์เพื่อเคารพกราบไหว้อย่างเหลือเฟือ อีกาฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมในการหาอาหารฉันใด พระทุศีลทุธรรมเหล่านี้ก็ฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยมในการหาลาภสักการะได้ฉันนั้น และแบ่งลาภสักการะให้แก่หงส์เล็กหงส์ใหญ่ได้อย่างทั่วถึง ฝูงหงส์ทั้งหลาย จึงให้ความสำคัญในอีกาเป็นอย่างมาก ในยุคต่อไปช่วงปลายศาสนาโน้น การเปลี่ยนไปในสังคมของสมณะก็จะเป็นอย่างนี้ พระที่ทุศีลทุธรรมจะเพิ่มมากขึ้น พระเณรที่ขาดการศึกษา จะไม่รู้ธรรมวินัย ไม่เข้าใจว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรผิดศีล อะไรผิดธรรม จะไม่รู้หน้าที่ของตน เพียงบวชกันตามประเพณีเท่านั้น เหตุการณ์อย่างนี้ ก็จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
16. โค่นล้มราชาธิปไตย ทรงฝันว่า ฝูงแกะพากันไล่กวดฝูงเสือเหลือง และกัดกิน ทำให้เสืออื่นๆสะดุ้งกลัว จนต้องหนีไปแอบซ่อนตัวจากฝูงแกะ
พระพุทธเจ้าทรงทำนายว่า อนาคตต่อไปในภายภาคหน้าโน้น ประชาชนทั้งหลาย ไม่พอใจการปกครองแบบราชาธิปไตย จึงพากันจับกลุ่มเพื่อเรียกร้องต่อต้านการปกครองของพระราชา ให้ได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย ให้พระราชาลดบทบาท ลดอำนาจลง อยู่ในการปกครองภายใต้กฎหมายเท่าเทียมกัน เมื่อพระราชาไม่ยินยอม ก็พากันปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจ ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ถ้าพระราชาองค์ใดขัดขืน ก็ลบล้างพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นประมุขของประเทศนั้นๆ พร้อมด้วยพระราชวงศ์ ให้หมดไปจากประเทศชาตินั้นเสีย
มีบางประเทศที่พระราชายินยอมตามคำขอร้องของประชาชน ยอมลงจากอำนาจเดิมคือราชาธิปไตย ประชาราษฎรในบ้านนั้นเมืองนั้น ก็จะพากันให้ความเคารพเชื่อถือในองค์พระมหากษัตริย์ พากันยกย่องเชิดชูในพระราชวงศ์นั้นจนสุดชีวิต เพื่อให้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นสมมุติเทพ กราบไหว้เทิดทูน ให้เป็นศูนย์รวมน้ำใจของประเทศนั้นๆ ตลอดไปสิ้นกาลนาน เหตุการณ์อย่างนี้ ก็จะเกิดมีในภายภาคหน้าโน้น
ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ทรงทำนายว่า เหตุร้ายนั้นจะมีแน่นอน เพียงแต่มิใช่เกิดแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล หรือแว่นแคว้นของพระองค์ แต่เหตุร้ายเหล่านี้จะเกิดแก่สัตว์โลกทั่วๆไป และแก่พระศาสนาของพระพุทธองค์ในภายภาคหน้า เมื่อล่วงเลยพุทธกาลไปแล้ว 2500 ปี เมื่อศาสนาเสื่อมลง (กล่าวกันว่า อายุของพุทธศาสนาในกัลป์นี้ยืนยาวเพียง 5,000 ปี หลังจากนั้นต้องรอยุคของพระศรีอาริยเมตตไตรย์ พระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเสด็จมาโปรดสัตว์) ทั้ง16ข้อนี้ ล้วนไม่พ้นคำพยากรณ์ที่ทรงทำนายบอกแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตของสมัยโน้น ก็คือ สมัยนี้หรือปัจจุบันนั่นเอง
พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า
“ เมื่อศาสนาตถาคตล่วงเลยไปถึงกึ่งพุทธกาล สัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดในยุคนั้นจะพบกับความลำบากทุกชาติทุกศาสนา ตามธรรมชาติอันหมุนเวียนของโลก ที่หมุนเวียนไปใกล้ความแตกทำลาย แผ่นดินแผ่นน้ำจะลุกเป็นไฟ มนุษย์และสัตว์จะได้รับภัยพิบัติสารพัดทั่วทิศ คนในสมัยนั้น(ปัจจุบัน) จะมีวิสัยโหดดุจกำเนิดจากสัตว์ป่าอำมหิต จะรบราฆ่าฟันกันถึงเลือดนองแผ่นดินแผ่นน้ำ ส่วนเวไนยสัตว์ผู้ขวนขวายในกุศลตามวัจนะของตถาคต ก็จะระงับร้อนไม่รุนแรง บ้านเมืองใดมีความเคารพยำเกรงในพระรัตนตรัยและคุณบิดามารดา เหตุร้ายภัยพิบัติจักเบาบาง แต่ก็จะหนีกฎธรรมชาติไม่พ้น
ในระยะนั้นศาสนาของตถาคตเสื่อมลงมาก เพราะพุทธบริษัทไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม เชื่อคำของคนโกง กล่าวคำเท็จ ไม่เคารพหลักธรรมนิยม คนประจบสอพลอได้รับการเชื่อถือในสังคม ผู้มีศีลธรรมประพฤติชอบกลับไม่มีคนเคารพยำเกรง พระธรรมจะเริ่มเปล่งแสงรัศมีฉายส่องโลกอีกวาระหนึ่ง เมื่อมีธรรมิกราชโพธิญาณบังเกิดขึ้น อยู่ในความอุปถัมภ์ของพระเถระผู้ทรงธรรมฤทธิ์(น่าจะหมายถึงพระศรีอาริยเมตตไตรย์) จะเสด็จมาเสริมสร้างพระศาสนาของตถาคตให้รุ่งเรืองสืบไปอีก 5,000 พระวรรษา
คำทำนายของตถาคตนี้ ย่อมยังเวไนยสัตว์ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ผู้ใดรู้แล้วไม่เชื่อ นับเป็นกรรมของสัตว์โลกที่ต้องสิ้นสุดไปตามกรรมชั่วของตน ผู้ใดปรารถนารอดพ้นจากภัยพิบัติ ให้รักษาศีลห้าประการ เจริญเมตตากรุณา ประกอบสัมมาอาชีพ มีใจสันโดษ รู้จักพอ ไม่หลงมัวเมาในอำนาจและลาภยศ ตั้งใจประพฤติตนตามคำสอนของตถาคตให้มั่นคง จึงจะพ้นอันตรายในยุคกึ่งพุทธกาล ”
พึงชนะความโกรธ ด้วยความไม่โกรธ
UP | HOME |
---|